วันนี้ (23 พ.ย.2560) นายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ จากการตรวจสอบข้อมูลพื้นที่สวนยางพาราทั้งประเทศมี 30 ล้านไร่ แบ่งเป็นในเขตพื้นที่ป่าไม้ 8.5 ล้านไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ 5.2 ล้านไร่ รวมเป็นของนายทุน 1.32 ล้านไร่ นอกจากนี้ ยังมีสวนยางพาราอยู่ในพื้นที่ป่าไม้ปี 2484 และอื่นๆ อีก 2 ล้านไร่ ทำให้ส่งผลกระทบต่อความสมดุลทางธรรมชาติและระบบนิเวศโดยรวมของประเทศ เช่น ภัยแล้ง อุทกภัย ดินโคลนถล่ม น้ำป่าไหลหลาก
ประกอบกับ ขณะนี้ราคายางพาราลดลงอย่างมาก สาเหตุหลักมาจากมีปริมาณน้ำยางพาราเข้าสู่ระบบมากเกินไป จนสร้างความเดือนร้อนให้เกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ รัฐบาล จึงเร่งแก้ปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกยางพารา และลดปริมาณน้ำยางพาราจากพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุก ทั้งในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตป่าอนุรักษ์ เพื่อนำมาฟื้นฟูให้กลับเป็นป่าที่มีสภาพสมบูรณ์ โดยเน้นดำเนินคดีกับกลุ่มนายทุน ถือเป็นมาตรการเร่งด่วนควบคุมจำกัดปริมาณน้ำยางที่ปลูกในพื้นที่ป่าที่จะเข้าสู่ระบบ 300,000 ตันต่อปี ควบคู่กับแก้ปัญหากลุ่มราษฎรผู้ยากไร้

โดยขณะนี้กรมป่าไม้ และการยางแห่งประเทศไทย เร่งสำรวจการถือครอบครองเพื่อให้ได้ข้อมูลนำไปจัดที่ดินทำกินตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ คทช. นอกจากนี้ ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า หรือศปก.พป. ได้เพิ่มความเข้มงวดการตรวจสอบสวนยางพาราของนายทุนที่ผิดกฎหมาย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังพบข้อมูลว่ากลุ่มทุนที่ถูกดำเนินคดีมีความพยายามเข้ามาหาผลประโยชน์จากสวนยางที่ผิดกฎหมาย
โดยใช้วิธีการจ้างคนงานต่างพื้นที่เข้ามากรีดน้ำยาง ขณะเดียวกันศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่าได้ประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค 1-4 และศูนย์การประสานการปฏิบัติที่ 4 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้เฝ้าตรวจตราไม่ให้เข้าไปกรีดยางในสวนยางของนายทุกที่ถูกดำเนินคดี

ด้าน น.ส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขณะนี้ทส. สามารถหยุดการบุกรุกพื้นที่ป่าปลูกสวนยางพาราได้แล้ว ควบคู่กับลดพื้นที่ปลูกยางพาราผิดกฎหมายของกลุ่มนายทุนลงภายในเวลา 10 - 20 ปี หากสามารถทำได้จะช่วยน้ำยางพารานอกระบบ เข้าสู่ตลาดลงได้ปีละ 300,000 ตัน แล้วภาครัฐจะเข้าไปเสริมสร้างประสิทธิภาพเกษตรกรให้ผลิตน้ำยางพารามีคุณภาพขึ้นป้อนตลาดที่มีความต้องการสูง