ความสำเร็จของ โครงการก้าวคนละก้าว ไม่ใช่เพียง "ตูน บอดี้สแลม" ที่วิ่งถึงเส้นชัย ที่ด่านชายแดนแม่สาย จ.เชียงราย เท่านั้น แต่เบื้องหลัง ยังมีทีมงานกว่า 100 ชีวิตให้การสนับสนุนซึ่งพวกเขาพร้อมที่จะก้าวไปพร้อมกับ "ตูน บอดี้สแลม" ตลอดระยะเวลา 55 วันที่ผ่านมา
นายพงษ์ภัทร ประทุมสุวรรณ หัวหน้าทีม เพจก้าว "ที่ผมประทับใจคือ ผู้สูงอายุบางคนไม่รู้จักพี่ตูน บอดี้สแลม แต่ส่วนใหญ่ออกมาเพราะผู้ชายคนนี้มาช่วยเหลือคนทั้งประเทศ ตอนที่ผมไปเป็นหน่วยล่วงหน้าก็จะมีคนถามว่าพี่ตูนใส่เสื้อสีอะไร ลักษณะเป็นแบบไหน เราก็รู้ว่าเขาไม่รู้จัก แต่เขาก็ออกมาเพราะว่าอยากจะช่วย" อาการบาดเจ็บของตูน และนักวิ่ง เป็นสิ่งที่ทีมงานเบื้องหลังกังวล และส่งผลต่อแผนการวิ่ง รวมถึง เวลาการพักผ่อน
นายประชารัตน์ แซ่จู หัวหน้าทีม On Ground ระบุว่า "หลายคนที่ผมเห็นจากหน้าปกติ ไม่ว่าจะผู้สูงอายุหรือเด็ก แต่โดยส่วนใหญ่คือผู้สูงอายุเมื่อพี่ตูนเข้าไปพูด สวัสดีครับ น้ำตาไหลแบบไม่มีสาเหตุ คือสิ่งที่เห็นแล้วเราประทับใจ หรือน้องบางคนที่พิการทางสมอง เพราะบางทีมผมต้องวิ่งล่วงหน้าก่อนเพื่อจะดูว่าข้างหน้าอะไรเกิดขึ้น น้องเขาอยู่ในรถเข็นก็นั่งเหม่อ พอพี่ตูนมาน้องก็รับรู้ได้ ตัวสั่น พยายามที่จะสื่อสาร พยายามที่จะบอก บางคนก็ร้องไห้ออกมาซึ่งมันเป็นเรื่องที่ต้องพูดว่า มหัศจรรย์ ในความรู้สึกผมนะ "
อิทธิพล สมุทรทอง ที่ปรึกษาการวิ่งโครงการก้าวฯ ผู้จัดการโครงการก้าวคนละก้าว บอกว่า ปีหน้า ทีมงานมีแผนจะทำกิจกรรมโครงการนี้ต่อ โดยคาดหวังให้คนไทยได้หลอมใจกันเป็นหนึ่งเดียวกัน และมีสุขภาพที่ดีขึ้น
ธีรทัต สังขทัต ณ อยุธยา ผู้จัดการโครงการก้าวคนละก้าวฯ กล่าวว่า "สุดท้ายนี้ โครงการนี้ยังไม่จบ ทุกคนยังบริจาคได้ถึงวันที่ 31 ม.ค. เพื่อ 11 โรงพยาบาล และในปีหน้าโครงการก้าวครละก้าวจะมีโปรเจคเล็กๆ ที่ให้ทุกคนร่วมกันคืออยากจะให้ก็ให้ อยากจะออกกำลังกายก็รีบออก เหมือนผม ผมก็จะรีบออก ก็ก้าวคนละก้าวไปด้วยกันครับ "
แม้ โครงการก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศจะสิ้นสุดลง แต่ดูเหมือนสัญญานของความร่วมมือในการสานต่อ การสร้างสุขภาพ และพัฒนาระบบบริการด้านสาธารณสุขจะกลายเป็นกระแสที่ได้รับการตอบรับอย่างชัดเจนขึ้น
แท็กที่เกี่ยวข้อง: