แพทย์เผยเด็กติดเชื้อไวรัส HIV มักทานยาต้านไม่ต่อเนื่อง

Logo Thai PBS
แพทย์เผยเด็กติดเชื้อไวรัส HIV มักทานยาต้านไม่ต่อเนื่อง

ปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กติดเชื้อ HIV กว่า 20,000 คน ที่ได้รับยาต้านไวรัส HIV แต่ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบ คือเด็กมักรับประทานยาไม่ต่อเนื่อง เพราะยาเม็ดมีขนาดใหญ่ และกลืนยาก จนทำให้เด็กกลุ่มนี้ดื้อยาแล้วกว่าร้อยละ 20 ซึ่งอาจทำให้การรักษายากขึ้น และเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเร็วขึ้น

เลือดในหลอดทดลองในห้องปฏิบัติการนี้เป็นเลือดในโครงการวิจัยพริดิค ด้านการวิจัยทางการแพทย์ระหว่างไทย และกัมพูชาว่าควรรักษาเด็กติดเชื้อเอดส์ เมื่อไหร่จึงจะเหมาะสมอายุ 1 - 12 ปี ในเด็กจำนวน 300 คน ที่แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มแรกให้เริ่มใช้ยาต้านไวรัสทันที กลุ่มที่ 2 ติดตามอาการและวัดภูมิคุ้มกันทุก 3เดือน และเริ่มกินยาต้านเมื่อภูมิคุ้มกันต่ำหรือเมื่อป่วย สำหรับเลือดที่ส่งมาเจ้าหน้าที่จะแยกหน้ำเลือด และพลาสมาออกจากกันเพื่อนำไปเข้าเครื่องเพื่อวัดปริมาณเชื้อ ไวรัสHIV หลังจาก ให้ยาไปแล้ว

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า จากการวิจัยในโครงการพริดิคพบว่าหากเด็กที่ติดเชื้อ HIV ในโครงการที่มีสุขภาพดีและมีภูมิคุ้มกันซีดีสี่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ยังไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส แต่หากเด็กมีอาการป่วยและภูมิคุ้มกันลดลงกว่านี้ เด็กต้องได้รับยาละได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์

แพทย์ยังแนะนำอีกว่าสำหรับยาต้านไวรัส HIV สำหรับเด็กมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ ชนิดน้ำและชนิดเม็ดสำหรับเด็กที่โต แต่ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือเด็กมักจะมีปฏิกิริยาต่อต้านการกินยาเนื่องจากยามีขนาดใหญ่และกลืนยากโดยปกติแล้วเด็กหลายคนไม่ชอบทานยาอยู่แล้ว ซึ่งมีผลต่อการเสียชีวิตที่เร็วขึ้น

ทั้งนี้ ในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวี 600,000 คนเป็นเด็ก 20,000 คน และในเด็กกลุ่มนี้ มีการดื้อยาในเด็กร้อยละ 20


ข่าวที่เกี่ยวข้อง