วันนี้ (7 มิ.ย.61) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสรายงานว่า นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 7 มิ.ย.61 แจ้งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เรื่องกำชับมาตรการป้องกันการทุจริตงบประมาณค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนเพิ่มเติม โดยเนื้อหาระบุว่า
ตามหนังสือที่อ้างถึงกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้แจ้งกำชับเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการทุจริตงบประมาณค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือปฏิบัติ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อภาวะทุพโภชนาการเด็กนักเรียนและคุณภาพการจัดการเรียนการสอนนั้น เพื่อความต่อเนื่องในการดูแลคุณค่าทางโภชนาการอาหารกลางวันของเด็กนักเรียน และป้องกันมิให้ผู้ไม่สุจริตอาศัยโอกาสและช่องว่างต่างๆ ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง แสวงหาประโยชน์จากงบประมาณค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียน จึงขอให้จังหวัดกำชับผู้กำกับดูแลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือปฏิบัติ ดังนี้
1.ให้พิจารณานำระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ (Thai School Lunch : TSL) มาใช้ในสถานศึกษา ซึ่งเป็นโปรแกรมความร่วมมือระหว่างสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (National Electronics and Computer Technology Center : NECTEC) จัดทำและพัฒนาขึ้นให้มีความครอบคลุมทั้งในด้านคุณค่าทางโภชนาการตามหลักวิชาการและความสอดคล้องกับสภาพภูมิสังคมหรือบริบทของแต่ละสถานศึกษา และได้รับการยอมรับจากหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถานศึกษาในสังกัด สามารถเข้าไปลงทะเบียนใช้งานระบบ Thai School Lunch ได้ที่ https://www.thaischoollunch.in.th/dla_register.php
2.สถานศึกษาใดใช้วิธีการจัดหาในรูปแบบการซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหารกลางวันเอง ให้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนหรือชุมชน ได้แก่ ผู้ปกครอง กลุ่มแม่บ้าน ศิษย์เก่า อาสาสมัคร ที่มีอยู่ในท้องถิ่น สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันช่วยสถานศึกษาดำเนินการ เช่น การตรวจสอบจำนวนหรือปริมาตรวัตถุดิบ การประกอบหรือการปรุงอาหาร หากสถานศึกษาใดใช้วิธีจ้างเหมาบริการให้มีการตรวจสอบจำนวนหรือปริมาตรวัตถุดิบสำคัญก่อนการประกอบอาหารด้วยทุกครั้ง
3.เพื่อความโปร่งใสและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตงบประมาณค่าอาหารกลางวัน ให้ปิดประกาศรายการอาหารและจำนวน หรือปริมาตรวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ประกอบอาหารในแต่ละวันให้ผู้ปกครองและเด็กนักเรียนทราบ โดยพิจารณาปิดประกาศเป็นรายสัปดาห์ หรือรายเดือนตามความเหมาะสม
4.ให้ผู้กำกับดูแลและผู้บริหารท้องถิ่น หมั่นตรวจติดตามการจัดซื้อจัดจ้างอาหารกลางวันของสถานศึกษาในสังกัดให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยการแต่งตั้งคณะทำงานสุ่มตรวจ หรือ ผู้กำกับดูแลและผู้บริหารท้องถิ่นลงพื้นที่สุ่มตรวจด้วยตนเองเป็นระยะ
5.การแต่งตั้งกรรมการตรวจรับพัสดุ ให้มีการหมุนเวียนสับเปลี่ยนบุคลากรมาทำหน้าที่ เว้นแต่มีข้อจำกัดด้านบุคลากรในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว
6.หากพบว่ามีการร้องเรียน หรือการกระทำที่ไม่สุจริตเกิดขึ้น ให้ผู้กำกับดูแลหรือผู้บริหารท้องถิ่นเร่งรัดตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติโดยเร็ว และดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายต่อไป