ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สถานการณ์ลงโทษ "ประหารชีวิต" ปี 60 จีนมากที่สุด

อาชญากรรม
19 มิ.ย. 61
15:18
4,915
Logo Thai PBS
สถานการณ์ลงโทษ "ประหารชีวิต" ปี 60 จีนมากที่สุด
แอมเนสตี้ เผยสถานการณ์โทษประหารปี 60 อยู่ที่ 993 คน ไม่รวมจีนที่เก็บข้อมูลเป็นความลับทางราชกร คาดว่ามีการประหารมากกว่าพันครั้ง ล่าสุดไทยประหารนักโทษคดีฆ่าชิงทรัพย์ นำไปสู่ถกเถียงในสังคมถึงความเหมาะสมของการลงโทษประหารชีวิต

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดรายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตปี 2560 พบว่าการประหารชีวิตส่วนใหญ่ในโลกเกิดขึ้นในประเทศจีน อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย อิรักและปากีสถาน ตามลำดับ ในอาเซียนมี สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม ที่มีการประหารชีวิตประชาชน ส่วนไทยยังคงเป็นหนึ่งใน 56 ประเทศที่ยังใช้โทษประหารชีวิตอยู่ ในขณะที่อีก 142 ประเทศทั่วโลกยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว

รายงาน “สถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตในปี 2560” (Death Sentences and Executions in 2017) ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่าแนวโน้มทั่วโลกมุ่งสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยในปี 2560 มีประชาชนอย่างน้อย 993 คนที่ถูกประหารชีวิตใน 23 ประเทศ ตัวเลขเหล่านี้ไม่ครอบคลุมการประหารชีวิตหลายพันครั้งที่เกิดขึ้นในจีน ซึ่งทางการถือว่าข้อมูลการใช้โทษประหารชีวิตเป็นความลับทางราชการ

ปี 2560 มีการตัดสินโทษประหารชีวิตอย่างน้อย 2,591 ครั้งใน 53 ประเทศ โดย 50 ประเทศได้พิพากษาประหารชีวิต หรือประหารชีวิตประชาชนในคดียาเสพติด ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ โดยภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือมีการประหารชีวิตในคดียาเสพติดสูงสุด ขณะที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีประเทศที่ใช้โทษประหารชีวิตกับความผิดนี้สูงสุด คือ 10 จาก 16 ประเทศ และจนถึงสิ้นปี 2560 ยังคงมีนักโทษประหารอยู่ทั่วโลกอย่างน้อย 21,919 คน

เมื่อ 40 ปีที่แล้ว มีเพียง 16 ประเทศ ที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต ปัจจุบันมี 142 ประเทศ หรือมากกว่า 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลก ที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมาย หรือในทางปฏิบัติแล้ว

สำหรับประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 10 ประเทศนั้น กัมพูชาและฟิลิปปินส์ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภทแล้ว ส่วนบรูไน ลาว และเมียนมา ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ (หมายถึงการที่ยังคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิต แต่ได้ระงับการประหารชีวิตจริงเป็นระยะเวลา 10 ปีติดต่อกัน) ส่วนไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และเวียดนามยังคงมีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่

ข้อมูลพบว่า สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนามยังคงประหารชีวิตประชาชนในปี 2560 โดยสิงคโปร์ประหารชีวิตประชาชน 8 คน ในขณะที่มาเลเซียมีอย่างน้อย 4 คนที่ถูกประหารชีวิต ส่วนเวียดนามมีแนวโน้มการประหารชีวิตสูงที่สุดในภูมิภาค แม้ทางการจะไม่ได้เปิดเผยสถิติการประหารชีวิตอย่างเป็นทางการ เนื่องจากตัวเลขการประหารชีวิตถือเป็นความลับทางราชการ จึงไม่สามารถยืนยันตัวเลขที่แท้จริงได้

ตั้งแต่ พ.ศ.2478 ถึงปัจจุบัน ไทยบังคับโทษประหารชีวิตมาแล้ว 325 คน แบ่งเป็น การใช้อาวุธปืนยิงจำนวน 319 คน และการฉีดยาสารพิษ 6 คน ซึ่งการประหารชีวิต ถือเป็นบทลงโทษทางอาญาที่หนักที่สุดตามกฎหมายไทย ซึ่งมีโทษ 5 อย่าง คือ ปรับ ริบทรัพย์สิน กักขัง จำคุก และประหารชีวิต

ล่าสุด วานนี้ (18 มิ.ย.) กรมราชทัณฑ์ได้ประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดชายธีรศักดิ์ อายุ 26 ปี ที่ถูกดำเนินคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณโหดร้าย โดยใช้มีดแทง 24 แผล ชิงโทรศัพท์มือถือ และกระเป๋าสตางค์ เมื่อปี 2555 ที่ จ.ตรัง โดยการบังคับโทษประหารชีวิตครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี หลังการประหารชีวิตเมื่อวันที่ 24 ส.ค.52

ทั้งนี้ การประหารชีวิตเป็นการดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 ประกอบมาตรา 19 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประหารชีวิตนักโทษ พ.ศ.2546 ซึ่งกำหนดให้ดำเนินการด้วยวิธีการฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย นับเป็นผู้ต้องขังรายที่ 7 นับแต่มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2546 ซึ่งเปลี่ยนวิธีการบังคับโทษประหารชีวิตจากการยิงเสียให้ตายเป็นการฉีดสารพิษ

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

2 ทนายเห็นแย้ง ควรใช้หรือยกเลิกโทษประหารชีวิต

ทำผิดคดีไหน? อาจถึงโทษประหารชีวิต 

7 พฤติกรรม "ฆ่า" แบบไหนที่ต้องรับโทษประหาร

แอมเนสตี้ ชี้ "ประหารชีวิต" ละเมิดสิทธิ-ไม่ลดอาชญากรรม 

แอมเนสตี้ฯ ออกแถลงการณ์ หลังไทยประหารชีวิตครั้งแรกรอบ 9 ปี 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง