วันนี้ (19 มิ.ย.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่การเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ถึงการบังคับโทษประหารชีวิตนักโทษขั้นเด็ดขาด วัย 26 ปี ชาวจังหวัดตรัง ผู้ต้องหาคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณโหดร้ายเพื่อชิงทรัพย์ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นคดีที่มีการบังคับโทษประหารชีวิตอีกครั้งนับตั้งแต่ปี 2552 ทำให้สังคมเกิดการตั้งข้อสังเกตว่า กรณีการบังคับโทษดังกล่าว มีความเกี่ยวข้องกับความพยายามไม่ให้ไทย ถูกประกาศเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารในทางปฏิบัติ ตามมติองค์การสหประชาชาติหรือไม่
ซึ่งตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมามีสื่อมวลชนจากหลายสำนักติดต่อเพื่อนัดขอสัมภาษณ์ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เพื่อขอความชัดเจนกรณีการบังคับโทษดังกล่าว และได้นัดหมายว่าจะมีการชี้แจงข้อเท็จจริงในช่วงเช้าของวันนี้ แต่ปรากฎว่าเมื่อถึงเวลาได้รับการประสานจาก เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของกรมราชทัณฑ์ว่า อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ถูกเรียกเข้าพบ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นการเร่งด่วน จึงไม่สามารถเข้าพบผู้สื่อข่าวเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงใดๆ ได้ โดยเบื้องต้นทราบว่าเป็นการหารือถึงข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการจากกระทรวงยุติธรรมภายใน 1 - 2 วันนี้
สำหรับกระบวนการบังคับโทษนักโทษขั้นเด็ดขาดวัย 26 ปี มีรายงานข่าวว่า กรมราชทัณฑ์ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมาย ตั้งแต่กระบวนการแจ้งสิทธิ์ , การยื่นถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ , การติดต่อให้นักโทษขั้นเด็ดขาดได้พูดคุยกับญาติเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งเป็นไปตามระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประหารชีวิตนักโทษ พ.ศ.2546 ส่วนขั้นตอนในวันนี้ หลังรักษาร่างของนักโทษไว้ครบ 12 ชั่วโมง จะติดต่อญาติของนักโทษ เพื่อให้นำกลับไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แต่หากไม่สามารถติดต่อญาติของนักโทษได้ ทางเรือนจำจะพิจารณาดำเนินการตามสมควรต่อไป
อ่านข่าวเพิ่มเติม
2 ทนายเห็นแย้ง ควรใช้หรือยกเลิกโทษประหารชีวิต
ทำผิดคดีไหน? อาจถึงโทษประหารชีวิต
7 พฤติกรรม "ฆ่า" แบบไหนที่ต้องรับโทษประหาร
แอมเนสตี้ ชี้ "ประหารชีวิต" ละเมิดสิทธิ-ไม่ลดอาชญากรรม
แอมเนสตี้ฯ ออกแถลงการณ์ หลังไทยประหารชีวิตครั้งแรกรอบ 9 ปี
สถานการณ์ลงโทษ "ประหารชีวิต" ปี 60 จีนมากที่สุด