ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เช็กความพร้อมพรรคการเมืองเก่า-ใหม่ เลือกตั้ง ’62

การเมือง
1 ส.ค. 61
18:31
2,419
Logo Thai PBS
เช็กความพร้อมพรรคการเมืองเก่า-ใหม่ เลือกตั้ง ’62
การจัดตั้งพรรคใหม่ ผ่านมติ กกต. เป็นพรรคการเมืองที่สมบูรณ์แล้ว 2 พรรค ส่วนการยืนยันสมาชิกพรรคเดิมยอดลดทุกพรรค กระทบการทำไพรมารีโหวต-ส่งผู้สมัคร ส.ส.

หลังเปิดจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ หรือ “จองชื่อพรรค” ในวันที่ 2 มี.ค. ที่ผ่านมา มีกลุ่มการเมืองจองชื่อพรรค รวม 114 กลุ่ม ซึ่งมี 2 กลุ่ม ผ่านขั้นตอนต่างๆ จนเป็นพรรคการเมืองที่สมบูรณ์แล้ว 2 พรรค ได้แก่ 1. พรรคทางเลือกใหม่ ที่มีนายราเชน ตระกูลเวียง เป็นหัวหน้าพรรค และ 2. พรรคมติประชา ที่มีนายอนุชิต งามพัฒนาพงศ์ชัย เป็นหัวหน้าพรรค 

 

นอกจากนี้ยังมีอีก 9 พรรค ที่อยู่ระหว่างรอคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) พิจารณาการจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองอย่างสมบูรณ์

 

ขั้นตอนการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ กลุ่มการเมืองจะต้องจองชื่อพรรคกับ กกต. เริ่มตั้งแต่ 2 มี.ค. ซึ่งสามารถดำเนินการได้จนกว่า พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 จะถูกยกเลิก จากนั้น กกต.จะตรวจสอบคุณสมบัติของกลุ่มการเมือง ขณะที่กลุ่มการเมืองต้องขออนุญาต คสช. เพื่อจัดประชุมครั้งแรก และหาสมาชิกอย่างน้อย 500 คน รวมถึงหาเงินทุนประเดิมพรรค 1 ล้านบาท

เมื่อดำเนินการครบและผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ จึงยื่นจดทะเบียนกับ กกต. ซึ่งปัจจุบัน (27 ก.ค.2561) มีกลุ่มการเมืองยื่นจดทะเบียนแล้ว 11 พรรค ผ่านมติ กกต. แล้ว 2 พรรค

 

พรรคการเมืองเก่าสมาชิกลดลงทุกพรรค

ก่อนการรัฐประหาร ปี 2557 มีพรรคการเมืองเก่าในทะเบียน 69 พรรค ตามคำสั่ง คสช. 53/2560 เปิดให้ยืนยันสมาชิกพรรคตั้งแต่วันที่ 1-30 เม.ย. ปี ’61 (พรรคขอขยายเวลาได้) ซึ่งการยืนยันสมาชิกพรรคการเมืองเก่าถูกวิจารณ์ว่าเป็นการ “รีเซ็ต” สมาชิกพรรค และเปิดโอกาสให้สมาชิกที่เป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. ย้ายพรรค

ครบ 30 วัน (1 มิ.ย.2561) กกต.เผยแพร่ข้อมูล พบว่า มีพรรคเดิมแจ้งยอดยืนยันสมาชิก 54 พรรค ทุกพรรคสมาชิกลดลง โดยภาพรวมมีสมาชิกเดิม 4,745,695 คน แต่มีการยืนยันสมาชิกเพียง 137,479 คน คิดเป็น 2.9% โดย 5 อันดับแรก คือ ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย ชาติพัฒนา พลังชล และชาติไทยพัฒนา ซึ่งประชาธิปัตย์ยอดลดลงมากสุด กว่า 2 ล้านคน

 

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า พรรคการเมืองเก่าที่ยังไม่แจ้งยืนยันสมาชิก ยังไม่พ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง เพราะขอขยายเวลาในการยืนยันสมาชิกได้ และมีเพียงพรรคประชาราษฎร์พรรคเดียวที่ขอยุติการดำเนินการพรรค

สรุปขณะนี้มีพรรคการเมือง 70 พรรค (ข้อมูล ณ 27 ก.ค. 2561) ประกอบด้วยพรรคการเมืองใหม่ 2 พรรค และพรรคการเมืองเก่า 68 พรรค  

สมาชิกลดลงส่งผลอย่างไร ?

สมาชิกพรรคลดลง ส่งผลต่อการส่งผู้สมัคร ส.ส. เพราะตาม พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. กำหนดให้ทำไพรมารีโหวต (การหยั่งเสียงขั้นต้น) ผ่านสาขาพรรคที่มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 100 คน หรือ ตัวแทนพรรคประจำจังหวัดที่มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 50 คน

ถ้าพรรคจะส่งผู้สมัคร ส.ส. เขต ครบทุกเขต (350 เขต) ต้องมีสมาชิกอย่างต่ำ จังหวัดละ 100 คน รวม77 จังหวัด คือ 7,700 คน

นอกจากนี้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ยังกำหนดให้มีสาขาพรรคแต่ละภาคอย่างน้อย 1 สาขา แต่ละสาขามีสามาชิกตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป ดังนั้นจำนวนสมาชิกจึงสัมพันธ์กับการส่งผู้สมัคร ส.ส. โดยตรง

สรุปถ้าพรรคต้องการที่นั่งในสภาฯ ทั้ง ส.ส.เขต และส.ส.บัญชีรายชื่อ จะต้องส่ง ส.ส.เขตให้มากที่สุด เพราะตามรัฐธรรมนูญคะแนนที่ได้จาก ส.ส.เขต จะถูกนำไปคำนวณที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่พรรคควรจะได้รับ เงื่อนไขเหล่านี้ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นคือ "สมาชิกพรรค" ที่จะต้องร่วมทำไพรมารีโหวตผู้สมัคร ส.ส.

ความท้าทายของพรรคการเมืองใหม่ จึงเริ่มด้วยการหาสมาชิกและดำเนินการตามขั้นตอนอย่างครบถ้วน เช่นเดียวกับพรรคการเมืองเก่าที่ต้องยืนยันสมาชิกในเวลาที่กำหนด เพราะสุดท้ายผลกระทบที่ร้ายแรง คือไม่สามารถส่งผู้สมัคร ส.ส. ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง