ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มอง 2 มุม "ค้าน-หนุน" สภามหาวิทยาลัยต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน

สังคม
9 พ.ย. 61
15:48
624
Logo Thai PBS
มอง 2 มุม "ค้าน-หนุน" สภามหาวิทยาลัยต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน
"ไทยพีบีเอสออนไลน์" สัมภาษณ์มุมมองเห็นต่างหลัง ป.ป.ช.ประกาศให้ผู้บริหารระดับสูง โดยเฉพาะนายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัย ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน จนกลายเป็นที่ถกเถียงตามมาถึงความเหมาะสม ซึ่งมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

อย่าให้มีอำนาจมากไป จนตรวจสอบไม่ได้

รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES) กล่าวว่า สนับสนุนให้นายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน แต่รู้สึกแปลกใจที่มีเสียงสะท้อนจากคนที่เกี่ยวข้องที่อ้างถึงความยุ่งยาก หรืออ้างว่าตำแหน่งนี้ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ กระทั่งลุกลามขู่ลาออก

ประเด็นเรื่องของ “อำนาจ” พิจารณา พ.ร.บ.การตั้งมหาวิทยาลัย ไม่ว่ามหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ หรือมหาวิทยาลัยของรัฐ ล้วนกำหนดว่าบุคคลเหล่านี้มีอำนาจ เพราะ “ควบคุม” การทำงานของอธิการบดี รองอธิการบดี และคณบดีได้ แม้ว่าค่าตอบแทนที่ได้จะเป็นแค่เบี้ยประชุม หรือบางมหาวิทยาลัยกำหนดเงินเดือนให้นายกสภามหาวิทยาลัยด้วย แต่ก็ยังไม่สามารถปฏิเสธการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐได้

ตัวอย่างชัดคือ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยกรณีกรรมการสภามหาวิทยาลัยราภัฎมหาสารคาม เป็นเจ้าหน้าที่ แม้ไม่ได้เงินเดือน แต่ได้เบี้ยประชุม จึงไปเข้าข้อกฎหมาย ป.ป.ช.ตอนนี้
รศ.วีรชัย พุทธวงศ์

รศ.วีรชัย พุทธวงศ์

รศ.วีรชัย พุทธวงศ์

ทั้งนี้ แม้ไม่มีผลประโยชน์โดยตรงมากนัก แต่มีผลประโยชน์ทางอ้อม เช่น กรณีอธิการบดีจะกู้เงิน 1,000 ล้านบาท ก็ต้องผ่านมติสภามหาวิทยาลัย เมื่ออนุมัติจึงจะกู้เงินและนำเงินเหล่านี้ไปพัฒนามหาวิทยาลัย ดังนั้นจะเห็นว่าสภามหาวิทยาลัยมีอำนาจเหล่านี้ และหากสมมติมีการ “ฮั้ว” ระหว่างสภามหาวิทยาลัยและผู้บริหาร ก็จะกลายเป็นการทุจริต อย่างเคสที่เป็นข่าวคือกรรมการฯ เป็นผู้รับเหมาและเอาบริษัทมารับงานมหาวิทยาลัย มูลค่าเป็นพันล้าน จึงกลายเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

เมื่อมีการร่วมทุจริตระหว่างสภามหาวิทยาลัยและผู้บริหาร แม้จะมีคณะอาจารย์คัดค้านหรือร้องเรียน แต่กลับถูกไล่ออกหรือไม่ต่อสัญญาจ้าง เท่ากับว่าไม่สามารถตรวจสอบได้ ปัญหาเหล่านี้จึงกลายเป็นเรื่องธรรมาภิบาล เมื่อ “สภามหาวิทยาลัย” มีหน้าที่ตรวจสอบผู้บริหาร แต่คำถามคือ “ใคร” จะเป็นคนตรวจสอบสภามหาวิทยาลัย ซึ่งการยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ เป็นเพียงการตรวจสอบขั้นต้นเท่านั้น

นี่คือครั้งแรก ที่ถือตามคติว่าอย่าให้กลุ่มใดมีอำนาจมากเกินไป จนไม่มีกลไกตรวจสอบ

 

รศ.วีรชัย ย้ำว่าการตรวจสอบยุคปัจจุบันสำคัญมาก เพราะมหาวิทยาลัยทั้งในและนอกระบบเกี่ยวข้องกับเงินมหาศาล ตั้งแต่หลัก 300-10,000 ล้านบาท ไม่นับรวมกรณีมหาวิทยาลัยกึ่งเอกชน ที่มี “รายได้” ทั้งจากค่าเทอม บริการวิชาการ และวิจัย ซึ่งรายได้อาจสูงถึง 10,000 ล้านบาท เท่ากับว่ามีเงินรวมต่อปีถึง 20,000 ล้านบาท จึงจำเป็นที่จะต้องมีการตรวจสอบทุกส่วน

บางกรณี มีเงินสหกรณ์ออมทรัพย์ถึง 40,000 ล้านบาท อธิการบดีจะกู้ต้องกู้ผ่านมหาวิทยาลัย สุดท้ายเรื่องถึงศาลปกครอง ศาลสั่งให้เร่งคืนเงิน เพราะไม่มีกฎหมายรองรับเรื่องพวกนี้

ท้ายสุด รศ.วีรชัย ตั้งข้อสังเกตกรณีเสียงสะท้อนจากปัญหาดังกล่าว พบว่ากลุ่มคนที่ค้านคัดกลับเป็นผู้บริหารที่ออกมาปกป้องนายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัย ไม่ใช่คนในสภามหาวิทยาลัย แสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีความเกรงใจต่อสภามหาวิทยาลัย หรือมีสาเหตุใดที่ต้องเกรงใจ

“จัดการคนไม่ดีไม่ได้ แต่กระทบคนดี”

ขณะที่  นายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) เห็นว่า “ใช้กระสุนนัดเดียว ยิงเป็นปืนกล จัดการคนไม่ดีไม่ได้ แต่คนดีได้รับผลกระทบ” และส่วนตัวอยากตั้งคำถามว่าวิธีการนี้จะสร้างความโปร่งใสได้จริงหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาแม้มีการใช้มาตรการแสดงบัญชีทรัพย์สินฯ แต่ยังมี “คนโกง” ทั้งหลายที่หนีรอดกระบวนการนื้

จุดนี้ต้องคิดกันดีๆ ส่วนที่ดีจะกระทบแรง ถ้าไม่มีคนยอมเสียสละมาทำหน้าที่ มหาวิทยาลัยขาดทุน

ทั้งนี้ การตรวจสอบที่ดีในกรณีที่ต้องสงสัยว่ามีการร่วมทุจริตระหว่างสภามหาวิทยาลัยและผู้บริหารมหาวิทยาลัย ควรมีการสอบสวนที่ดีและมีการตรวจสอบจากส่วนกลางเป็นรายกรณี เพื่อไม่ให้กระทบกับการทำงานของส่วนอื่นๆ ที่ไม่มีปัญหา

นพ.จรัส สุวรรณเวลา

นพ.จรัส สุวรรณเวลา

นพ.จรัส สุวรรณเวลา

นพ.จรัส กล่าวว่า ความรู้สึกในฐานะที่เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย และเชิญบุคคลมาเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยด้วยเกียรติ และหากกรรมการรับผิดชอบตนเองด้วยเกียรติก็ไม่มีปัญหา เพราะไม่มีอะไรที่ดีเท่ากับเกียรติยศที่จะต้องดูแลรักษา ซึ่งเป็นตัวกลั่นกรองการทุจริตด้วย แต่ถ้ายังระแวงว่าจะมีการโกง ก็ควรเป็นหน้าที่ของสภามหาวิยาลัยที่จะช่วยกำกับ “อย่าให้โกง” ไม่ใช่เหมารวมจนไม่มีคนเข้ามา ทำให้มหาวิทยาลัยเสียโอกาส

นพ.จรัส ระบุอีกว่า หลังมีประกาศ ป.ป.ช. ยังไม่ได้รับการติดต่อจากกรรมการสภามหาวิทยาลัย และมั่นใจกรรมการที่อยู่ในสภามหาวิทยาลัย เพราะเป็นผู้มีเกียรติและเชิญมาด้วยตนเอง หากต้องตัดสินว่าบุคคลเหล่านี้ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ หรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าไม่ยุติธรรม เพราะเชิญบุคคลเหล่านี้มาทำหน้าที่เพื่อส่วนรวม ได้ค่าตอบแทนน้อยและทำงานที่เป็นประโยชน์มาก รวมถึงเข้ามาเพราะอยากจะมาช่วยงาน

ป.ป.ช.น่าจะคิดอีกที และรัฐบาลต้องคิด ผลเสียจะคุ้มหรือไม่ ถ้าไม่คุ้มต้องมีวิธีอื่น ประเทศมุ่งหน้าป้องกันการโกงเป็นเรื่องถูก แต่จะไม่เชื่อใจใครเลยก็ไม่น่าเป็นทางออก

ส่วนประเด็นทางกฎหมาย นพ.จรัส มองว่าสภามหาวิทยาลัยเป็น “คณะบุคคล” ที่อยู่เหนือการบริหาร มีหน้าที่กำกับเชิงนโยบาย ซึ่งเป็นหลักการที่ไทยนำมาจากต่างประเทศ โดยต่างประเทศไม่ถือคณะบุคคลเหล่านี้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่มีผลประโยชน์ทางตรงจากองค์กร ต่างจาก “คณะบุคคล” ในเอกชนที่มีอำนาจในองค์กรชัดเจน ขณะที่สถานะตามกฎหมายที่มีการตีความขณะนี้ก็ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและ ป.ป.ช.พิจารณาต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง