นับพันชีวิตสัตว์ป่า...ที่หายไป ?

สิ่งแวดล้อม
26 ธ.ค. 61
09:00
820
Logo Thai PBS
นับพันชีวิตสัตว์ป่า...ที่หายไป ?
26 ธ.ค.ของทุกปี เป็นวันคุ้มครองสัตว์ป่าของไทย ปีนี้คดีด้านสัตว์ป่า 565 คดี เป็นคดีรายใหญ่ 16 คดี โดยของกลางสัตว์ป่าที่ตรวจยึดได้ จำนวน 7,318 ตัว โดยปีนี้ยังมีสัตว์ป่าขนาดใหญ่ โดยเฉพาะช้าง-พะยูน ตายชนิดละ 8 ตัว วัวแดง-เลียงผา ถูกลักลอบล่าและฆ่าตาย

ไทยพีบีเอสออนไลน์ รวบรวมข่าวดี และข่าวสูญเสียสัตว์ป่าในรอบปี 2561 เนื่องในวันคุ้มครองสัตว์ป่า  26 ธันวาคมของทุกปี ในปีนี้คนไทยค่อนข้างตื่นตัวกับการอนุรักษ์สัตว์ป่ามากขึ้น จาก “คดีเสือดำ” ที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล แต่กลายเป็นกระแสปลุกพลังเงียบให้ปัญหาสัตว์ป่าทุกชนิดกลับมาอยู่ในความสนใจ ท่ามกลางคำยืนยันจากพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ระบุว่าในภาพรวมประชากรสัตว์ป่าหลายชนิดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช้างป่ามีประชากรเพิ่มขึ้น 3,300 ตัว มีอัตราเพิ่มขึ้นปีละ 240 ตัว ส่วนอัตราการตายลดลงจากคน

ข่าวดี : พบเสือดาว -ฉลามเสือดาว-แม่เต่าะเฟือง 

 


“เสือดาว”
 อวดโฉมป่าแก่งกระจาน ภาพของ “เสือดาว” ที่กำลังเดินอยู่บนถนน เส้นทางลงจากแคมป์บ้านกร่าง ภายในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 13 สร้างความตื่นเต้นให้กับคณะผู้สื่อข่าวที่ลงพื้นที่สำรวจเส้นทางปรับปรุงถนนขึ้นพะเนินทุ่ง เมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา

เสือดาวตัวนี้ เป็นเสือดาวที่มีรูปร่างสมบูรณ์แข็งแรง ขนาดโตเต็มวัย ลำตัวมีสีลายจุดสีน้ำตาล อมเหลืองทอง การปรากฎตัวของเสือดาว ชี้ให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของป่าแก่งกระจาน อีกทั้งปกติเสือดาวมักจะเจอตัวยาก ในไทยมีการประเมินประชากรในผืนป่าเหลือแค่ 130 ตัว

 

 "เลียงผา" ปรากฏตัวครั้งแรกอุโมงค์เชื่อมป่า เมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา หลักฐานนี้ถูกเผยแพร่ต่กกลุ่มไลน์คณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.ปราจีนบุรี พบผู้ใช้ชื่อ กิติวัฒน์ บัวลอย ได้เผยแพร่ภาพนิ่ง 3 ภาพพร้อมวิดีโอ โดยมีข้อความระบุว่า “ตอนแรกผมคิดว่า ทำอุโมงค์ให้สัตว์ข้าม มันจะมีสัตว์ที่ไหนมาข้าม แต่วันนี้ผมเจอแล้วครับ “เลียงผา” ที่ปากอุโมงค์ ตัวเป็นๆ ดีใจมากครับ

การปรากฎตัวครั้งแรกของเลียงผา สัตว์หายากบนถนนสาย 304 ช่วงกบินทร์บุรี-ปักธงชัย กิโลเมตรที่ 42-47 หลังการก่อสร้างอุโมงค์เชื่อมผืนป่าทับลาน-เขาใหญ่ ทำให้ต้องมีการวางมาตรการเพิ่มเติมทั้งการ ติดกล้องถ่ายภาพและจัดชุดลาดตระเวนเพิ่มเฝ้าระวังความปลอดภัยเพิ่ม

 


แม่เต่ามะเฟือง” 
วางไข่หาดเขาหลัก ในรอบ 5 ปี สร้างความตื่นเต้นในวงการนักอนุรักษ์อย่างมาก กับการกลับมาของ แม่เต่ามะเฟืองขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่ขึ้นมาวางไข่บนชายหาดเขาหลัก จ.พังงา ครั้งแรกในรอบ 5 ปี เพราะหลังเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 การเจอตัวเต่ามะเฟืองมาวางไข่ในชายหาดของไทยเจอตัวได้ยากมาก

แม่เต่ามะเฟืองตัวนี้มีขนาด 1.25 เมตร วางไข่เต่ารวม 118 ฟอง เป็นไข่ลมหรือไข่ฝ่อ 25 ฟอง แตกเสียหาย 4 ฟอง และไข่ปกติ 89 ฟอง เจ้าหน้าที่ย้ายไข่เต่า ไปฟูมฟักในจุดปลอดภัย สร้างเพิงกั้นเขตป้องกันสัตว์และภัยจากการขโมยไข่ของมนุษย์ และนับถอยหลังรออีก 60 วันที่จะเจอหน้าลูกเต่าน้อยลืมตาออกสู่ทะเลไทย

 


“ฉลามเสือดาว” คืนถิ่น เกาะสิมิลัน
ถือเป็นอีกหนึ่งข่าวดี ของคนรักทะเล นายดำรัส โพธิ์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุพืช เผยแพร่ข่าวดีว่ากลุ่มนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทย และต่างประเทศ ต่างแสดงความดีใจอย่างมากหลังสำรวจพบฉลามเสือดาว สัตว์ทะเลหายากกลับมาอาศัยหากินอยู่บริเวณ ด้านทิศตะวันออกของเกาะ 7 หรือเกาะปายู ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา หลังจากไม่เคยมีรายงานการเจอฉลามเสือดาวมานาน 5 ปี ฉลามที่พบเป็นคู่ 2 ตัวมีท่าทีเป็นมิตรกับนักดำน้ำ และว่ายเข้ามาให้นักสำรวจ 

ความสูญเสีย ช้างป่า-พะยูนตาย

 

 


หากจะบอกว่าปีนี้ “ช้าง” สัตว์ป่าสัญลักษณ์ของไทยตายมากที่สุดก็ว่าได้ นับตั้งแต่ต้นปี 2561 โดยไทยพีบีเอสออนไลน์ รวบรวมจากข่าว และรายงานของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช รวมจำนวน 8 ตัว

โดยเฉพาะเดือน ธ.ค.นี้ มีช้างป่าตายรวม 3 ตัวในเวลาไล่เลี่ยกัน โดย 2 ตัวเป็นลูกช้าง ตัวแรกชื่อใบเตย หลังเจ้าหน้าที่พบตัวเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา บริเวณข้างทางบ้านคลองกำจัง ม.21 ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา เนื่องจากถูกโขลงทิ้ง เมื่อเจ้าหน้าที่ไปถึงตรวจสอบเบื้องต้นพบลูกช้างป่าอายุประมาณ 2-3 สัปดาห์ มีบาดแผลที่ใต้ท้อง และรักษาเกือบ 3 สัปดาห์สุดท้ายเจ้าใบเตยก็ตาย

ส่วนอีกตัว เป็นลูกช้างอายุ 5 ปี ที่ได้รับบาดเจ็บที่ขาขวาด้านหลังไม่สามารถลุกขึ้นยืนได้ตามปกติหลังพบนอนตะแคงบริเวณใกล้ร่องห้วยชายป่าหุบน้ำโจน หมู่ 6 บ้านเขาจ้าว อ.ปราณบุรี ห่างจากแนวเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรีประมาณ 1 กิโลเมตร 

ขณะที่ยังเจอช้างป่า ตัวผู้อายุประมาณ 20 ปีตายที่เขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าภูหลวง จ.เลย และหากนับย้อนหลังตลอด 1 ปีมีเหตุการณ์สลดที่เกิดกับช้างที่สร้างความสะเทือนใจหลายครั้ง ล่าสุดเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา กรณีช้างป่าขนาดใหญ่ถูกยิงด้วยปืนอาวุธสงคราม บริเวณน้ำตกห้วยทราย ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบุณฑริก -ยอดมน จ.อุบลราชธานี 

 

นอกจากนี้ยังมีคดีลูกช้างป่าเขาอ่างฤาไน ที่ได้รับการรักษาจากการถูกบ่วงรัดขา แต่หลังจากปล่อยคืนป่าไปไม่กี่วัน กลับพบลูกช้างอายุ 3 ปี ตายปริศนาโดยพบมีขาหลังขวาบวมมาก และไม่ใช่ขาข้างที่เคยโดนบ่วงรัด มีเศษตะกั่วที่หมู่ที่ 1 ต.พวา อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี 

หลังจากก่อนหน้านี้เจอแม่ช้างล้มอีก 1 ตัว บริเวณเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาโต๊ะเทพ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา แต่ที่สะเทือนใจคือพบลูกช้างอายุ 2 ปี ยืนเฝ้าร่างของแม่ช้างอยู่ใกล้ๆและมีอาการ หวงแม่ช้างมาก 

ก่อนหน้านี้แม่ช้างล้ม 1 ตัว ที่ป่าเขาโต๊ะเทพ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา แต่ที่สะเทือนใจคือพบลูกช้าง ยืนเฝ้าร่างของแม่อยู่ใกล้ๆ

เกิดเหตุสลดในช่วงเดือน มี.ค. ช้างป่าตัวผู้อายุประมาณ 10 ปี ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ถูกไฟฟ้าช็อตตายที่ หมู่ 2 ต.พลวงทอง อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี และถูกแอบฝังซากทิ้งไว้ และถัดมาอีกไม่ถึงเดือน ช่วง เม.ย. ช้างป่าตัวผู้อายุ 30 ปีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ถูกไฟช็อตตาย บริเวณไร่สับปะรด หมู่ 2 ต.พลวงทอง อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี





พะยูนตาย 8 ตัว 
นายมาโนช วงษ์สุรีย์รัตน์ คณะกรรมการสมาคมอุทยานแห่งชาติ อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง บอกว่า รอบปีที่นี้มีสถิติผ่านมาพะยูนตายประมาณ 8 ตัวทั้งในทะเลตรัง ระนอง และพังงา พบว่าอัตราการตายแต่ละปีไม่ลดลงเลย สาเหตุจากการติดเครื่องมือประมง ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย และไม่ใช่เรื่องธรรมดา หากเทียบประชากรพะยูนในทะเลคาดว่าจะมีประมาณ 150-200 ตัวแต่อัตราเกิดเฉลียกับอัตราตายปีละ 8-10 ตัว เนื่องจากพะยูนกว่าจะใช้เวลาเติบโตและตั้งท้องออกลูกต้องใช้เวลานาน 5 ปี

ข้อเสนอคือภาครัฐ ต้องกำหนดเขตอนุรักษ์พะยูน รักษาแหล่งหญ้าพะยูน ต้องกำหนดเครื่องมือทำการประมงที่ชัดเจน และเงื่อนไขเวลาที่จะให้เครื่องมือประเภทอะไรบ้าง จะผสมผสานกันไปได้ แต่สำคัญคือต้องมีหน่วยงานที่เข้ามารับผิดชอบอย่างจริงจัง ศึกษาพะยูนเชิงลึก

ภาครัฐต้องกำหนดเขตอนุรักษ์พะยูน รักษาแหล่งหญ้าพะยูน กำหนดเครื่องมือทำประมงที่ชัดเจน ที่สำคัญต้องมีหน่วยงานเข้ามารับผิดชอบอย่างจริงจัง

 


วัวแดง
 
ตัวผู้ถูกยิงตายในพื้นป่ารอยต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี พบบาดแผลเป็นรูขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เซนติเมตร ลำคอมีบาดแผลอีก 2 รู เมื่อผ่าเปิดซาก พบเลือดคั่งในกล้ามเนื้อ หัวกระสุนปืนที่พบเป็นลูกโดด สันนิษฐานว่าพรานตั้งใจล่า เพราะต้องการเขาตามใบสั่ง มากกว่าจะเอาเนื้อไปกิน เพราะไม่เป็นที่นิยม และไม่คุ้มต่อการถูกจับกุม

1 ปีคดีสัตว์ป่าพุ่ง 565 คดี สัตว์ป่าของกลาง 7,318 ตัว

ข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่าปี 2561 มีคดีด้านสัตว์ป่า 565 คดี จำนวนนี้ได้ตัวผู้ต้องหา 435 คดี จำนวน 604 คน ไม่ได้ตัวผู้ต้องหา 130 คดี แบ่งเป็นคดีรายเล็ก จำนวน 548 คดี และคดีรายใหญ่ 16 คดี

โดยของกลางสัตว์ป่าที่ตรวจยึดได้ จำนวน 7,318 ตัว มากที่สุด นกชนิดต่างๆ 3,344 ตัวงู 1,957 ตัว เต่า และตะพาบน้ำ 872 ตัว ตัวลิ่น 423 ตัว เสือ 2 ตัว

 

ส่วนซากสัตว์ป่า จำนวน 1,521 ซาก มากสุด ซากกระรอก กระแต 352 ซากไก่ป่า ไก่ฟ้า กระจง 31 ซาก ซากกระทิง 7 ซาก เลียงผา 7 ซาก หมีและเสืออย่างละ 3 ซาก

นอกจากนี้ กรมอุทยานฯ ยังต้องดูแลสัตว์ป่าของกลางในคดี ปีนี้ จำนวน 208 ชนิด 9,353 ตัว ส่วนใหญ่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 298 ตัว สัตว์เลื้อยคลาน 2,413 ตัว สัตว์ในบัญชีไซเตส 217 ตัว391 ชนิด จำนวน 9,676 ตัว แบ่งเป็นเสือโคร่ง 130 ตัว เสือดาว เสือไฟ 8 ตัว หมีควาย 41 ตัว หมีหมา ช้าง 4 ตัว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 904 ตัว สัตว์เลื้อนคลาน 19 ชนิด 6,588 ตัว

 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง