ตร.เต้น สั่งตั้งด่านจับ "รถควันดำ" หวังลดฝุ่นพิษ

สิ่งแวดล้อม
15 ม.ค. 62
18:14
641
Logo Thai PBS
ตร.เต้น สั่งตั้งด่านจับ "รถควันดำ" หวังลดฝุ่นพิษ
ตำรวจคุมเข้มตรวจควันดำจากรถยนต์และรถเมล์ ลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่กรุงเทพฯ พบปี 2561 มีผู้กระทำผิดกว่า 1 แสนราย ขณะที่ รอง ผบก.จร. แนะถึงเวลาที่ไทยต้องจำกัดปริมาณรถยนต์ แต่ต้องมีความพร้อมของระบบขนส่งสาธารณะ

วันนี้ (15 ม.ค.2562) พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สั่งการให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยกองบังคับการตำรวจจราจร กองบังคับการตำรวจนครบาล 1- 9 ตำรวจภูธรภาค 1 ภาค 7 เพิ่มมาตรการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับรถยนต์ควันดำบนท้องถนน หลังกรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) พื้นที่ริมถนนในกรุงเทพฯ ตรวจวัดได้ระหว่าง 46-82 มคก./ลบ.ม. ซึ่งอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ และเกินค่ามาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) จำนวน 22 จุด โดยมีสาเหตุจากสภาพอากาศและการจราจร

 

ตรวจจับ "รถควันดำ" 1 แสนคัน

พ.ต.อ.กิตติ อริยานนท์ รอง ผบก.จร. กล่าวว่า ถนนที่มีปัญหาการจราจรติดขัดมากที่สุด 5 เส้นทาง ได้แก่ ถนนรามคำแหง ถนนลาดพร้าว ถนนพหลโยธิน ถนนแจ้งวัฒนะ และถนนรามอินทรา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน นอกจากนี้ ยังมีมลพิษจากรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล กว่า 2.5 ล้านคันในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อเกิดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์จะส่งผลให้เกิดควันดำ และค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง โดยเฉพาะช่วงเวลา 07.00-08.00 น. และ 18.00-19.00 น.

จากสถิติปี 2561 เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบรถที่มีควันดำเกินกฎหมายกำหนด จำนวน 1 แสนคัน โดยให้เสียค่าปรับรายละ 1,000 บาท และต้องนำหลักฐานการแก้ไขปัญหาควันดำมายืนยันกับเจ้าหน้าที่ พร้อมตั้งจุดตรวจวัดควันดำ 8 จุด กระจายตามพื้นที่รอบนอกของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะรถบรรทุกที่ต้องวิ่งเข้ามายังตัวเมืองชั้นใน ช่วงเวลา 10.00 น. เป็นต้นไป

 

ถึงเวลาจำกัดปริมาณรถ แต่ขนส่งสาธารณะต้องพร้อม

รอง ผบก.จร. กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการเร่งด่วน คือการตรวจวัดควันดำจากรถโดยสารประจำทาง 4,500 คัน ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน ขณะที่ข้อเสนอให้ใช้มาตรการจำกัดจำนวนรถยนต์ด้วยทะเบียนคู่-คี่ เพื่อลดมลพิษทางอากาศนั้น เป็นเรื่องของการกำหนดนโยบายจากรัฐบาล ซึ่งต้องศึกษาหลายปัจจัย ทั้งประสิทธิภาพในการดำเนินมาตรการ และความเดือดร้อนของประชาชน ส่วนตัวมองว่า ถึงเวลาที่ไทยต้องควบคุมปริมาณรถยนต์แล้ว แต่ต้องพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้มีความพร้อมด้วย ทั้งรถไฟฟ้า และรถโดยสารสาธารณะ

สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ มีการจดทะเบียนรถมากกว่า 10 ล้านคัน แบ่งเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล ร้อยละ 60 รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 30 และรถอื่น ๆ อีก ร้อยละ 10 ซึ่งปริมาณรถยนต์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เดือนละ 100,000 คัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง