วันนี้(15 มี.ค.2562) ไทยพีบีเอส จัดรายการพิเศษ “วาระประชาชน กำหนดประเทศไทย”โดยเชิญตัวแทนจาก 7 พรรคการเมือง คือ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคอนาคตใหม่ โดยมีคำถามด้านการศึกษา การเมือง กระจายอำนาจ สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเมือง เศรษฐกิจ โดยเชิญนักวิชาการ ตัวแทนจากภาคประชาชนเข้าร่วมถาม
คำถามภาคประชาชน เรื่องการศึกษา
- ถ้าพรรคท่านได้เป็นรัฐบาล จะเลือกใครเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพราะอะไร
- 100 วันหลังจัดตั้งรัฐบาล จะใช้งบประมาณลงทุนแก้ไขปัญหาและสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านไหนก่อน และนำงบประมาณมาจากไหน
- จะใช้งบประมาณลงทุนกับครูและกลุ่มครูผู้สร้างการเรียนรู้นอกระบบอย่างไร
- มีกลไกใหม่ใด เพื่อส่งต่อความรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้ครูมีศักยภาพเต็มและรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของเด็ก
นายวราวุธ ศิลปอาชา พรรคชาติไทยพัฒนา ระบุว่า จะเลือกตัวเองเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพราะเข้าใจทั้งคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่า โดย 100 วันแรก จะทำให้กระทรวงศึกษาธิการมีความต่อเนื่องในการทำงาน สร้างสภาพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ให้อยู่เหนือกระทรวงศึกษาธิการ ประกอบไปด้วย ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง ผู้ประกอบการ เพื่อแก้ปัญหาในภาพรวม การศึกษาต้องไม่เปลี่ยนไปตามนักการเมือง
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ พรรคชาติพัฒนา ระบุว่า จะเลือกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หลังทราบผลการเลือกตั้ง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ เด็กไทยไม่ค่อยเข้าสู่ระบบอุดมศึกษา เพราะฉะนั้นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข คือ สร้างสภาพแวดล้อมทางการศึกษา
ต้องปรับหลักสูตรที่ยืดหยุ่น ให้คนเลือกที่จะเรียนมากกว่าการถูกบังคับ เปลี่ยนเห็นห้องเรียนอัจฉริยะ หลักสูตรออนไลน์ สร้างศูนย์การเรียนรู้ โดยสนับสนุนเด็กไทย 2 ภาษา
นอกจากนี้จะแก้ไขปัญหาครู โดยใช้เทคโนโลยีที่เพียงพอ ให้งบอำเภอละ 1 ล้านบาท ให้สนับสนุนพัฒนาครู และแก้หนี้ครู
ด้านนายเกียรติ สิทธีอมร พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกผู้ใดเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต้องรอจัดตั้งรัฐบาลก่อน ส่วนการแก้ปัญหาใน 100 วันแรก จะคืนครูให้นักเรียน พัฒนาครูโดยฝึกอบรมวิชาการใหม่ๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ครูต้องมีจิตสำนึกดี และจะปรับโครงสร้างหนี้ครูอย่างแน่นอน นอกจากนี้จะทำให้นักเรียนเลือกอาชีพได้เร็วขึ้น และสนับสนุน Smart education fun ที่บริหารโดยภาคประชาชน
ขณะที่ นายนพดล ปัทมะ พรรคเพื่อไทย ระบุว่า ผมอาสาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพราะเป็นคนร่างนโยบายการศึกษาของพรรค ซึ่งส่วนตัวเคยเรียนที่ต่างประเทศและเห็นถึงปัญหา ทันทีที่ทำงานต้องให้เยาวชนเรียนฟรี 15 ปี โดยเติมเงินให้นักเรียนเข้าสู่ระบบการศึกษามากขึ้น ให้ความสำคัญกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
ให้นักเรียนได้เรียนออนไลน์มากขึ้น โดยปรับหลักสูตรจากท่องจำ เป็นหลักสูตรศตวรรษที่ 21 คือ คิดวิเคราะห์ แก้หนี้ กยศ. รวมทั้งเน้นการสื่อสารภาษาอังกฤษ และพัฒนาครู
ด้านนายภราดร ปริศนานันทกุล พรรคภูมิใจไทย ระบุว่า จะเลือกใครก็ตามที่อยู่เหนือการเมืองเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ส่วน 100 วันแรกจะสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษาระหว่างชนบทกับคนเมือง
จะเห็นว่านักเรียนในชนบทเข้าถึงการศึกษาได้ยากมาก จึงอยากเสนอการเรียนออนไลน์ ให้นักเรียนไปโรงเรียนเพื่อเป็นคนดี เรียนฟรีออนไลน์เพื่อเป็นคนเก่ง
รัฐบาลต้องลงทุนศึกษาออนไลน์อย่างทั่วถึง ขณะที่กลไกการพัฒนาครู ต้องยกเลิกการประเมินครูทั้งหมด เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ครูไม่ได้ให้ความสำคัญกับนักเรียน ดังนั้น ต้องให้ความดีความชอบแก่ครู จากคุณภาพของเด็กแทน
ส่วนนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ พรรคเศรษฐกิจใหม่ ระบุว่า ถ้าเลือกได้ ต้องการเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยเรื่องการศึกษาต้องเอานักศึกษาเป็น KPI วัดคุณภาพครู ขอให้ทุกคนลงมาเข้มข้นกับการศึกษา เพราะเด็กต้องการการพัฒนาการศึกษาที่ดีขึ้น
น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล พรรคอนาคตใหม่ ระบุว่า ทางพรรคเลือก กุลธิดา รุ่งเรืองกิจ หรือ ครูจุ้ย เป็นรัฐมนตรีว่าการศึกษาธิการ เนื่องจากเคยเป็นครูและผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา
สิ่งที่จะทำอย่างแรก คือฟังปัญหาจากครูรุ่นใหม่ เพื่อปลดล็อกปัญหาทันที ไม่ต้องใช้งบเพิ่ม และยกเลิกบางโครงการ เช่น โครงการบูรณาการรายจังหวัด เพื่อคืนครูกลับห้องเรียน มีครูพี่เลี้ยง และเพิ่มชั่วโมงอบรมให้ครูในพื้นที่ห่างไกล
ขณะที่ ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สอบถามนายเกียรติ พรรคประชาธิปัตย์ว่า ระบบราชการเป็นปัญหาอย่างไร เหตุใดผู้บริหารไม่ปฏิรูปกระทรวง และแนวทางปฏิรูปในอนาคตเป็นอย่างไร โดยนายเกียรติ ตอบว่า หลักคิด คือ ต้องปฏิรูปกระทรวงไม่ให้เป็นภาระระบบการศึกษา ต้องให้อิสระโรงเรียนพัฒนาหลักสูตร โดยโรงเรียนต้องออกนอกระบบการกำกับของกระทรวงจะเห็นผลเร็ว โดย 90 วันแรกต้องทำแผนได้ แต่การปฏิรูปยังไม่สัมฤทธิ์ผล ดังนั้น คนในกระทรวงต้องตระหนักว่าตัวเองเป็นปัญหาอย่างไร
ถามพรรคการเมืองถึงนโยบายจัดรัฐสวัสดิการพื้นฐาน
นางชุลีพร ด้วงฉิม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการและผู้ผลักดันรัฐสวัสดิการกว่าหนึ่งทศวรรษ ถามพรรคการเมืองว่ามีนโยบายจัดรัฐสวัสดิการพื้นฐานถ้วนหน้าอย่างไรและจะดำเนินนโยบายให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร
นายมิ่งขวัญ พรรคเศรษฐกิจใหม่ ตอบว่า พรรคกำหนดนโยบาย 60-70-80 ถ้าแก่แล้วจนรับไปเลย 3,000 - 4,000 - 5,000 แต่ถ้าอายุยังไม่ถึง 60 รับ 2,000 แต่นี่ยังเป็นเพียงวิธีคิด ท้ายที่สุดแล้วต้องไปทั้งประเทศ ไม่สามารถทิ้งคนจนได้ ซึ่งพรรคเศรษฐกิจใหม่จะพยายามทำให้ได้ทุกข้อ เพราะ-อยากให้คนไทยมีความสุข
ด้าน น.ส.ศิริกัญญา พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า พรรคเชื่อในเรื่องรัฐสวัสดิการครบวงจร ต้องไม่มีการพิสูจน์ ไม่ตีตราว่าใครจนหรือไม่จน โดยจะศึกษาว่าช่วงใดมีความเสี่ยงเป็นพิเศษหรือเปราะบาง เช่น แม่มีสิทธิลาคลอด 90 วัน อีก 90 วันสำหรับการเลี้ยงดูบุตร และให้เงิน 2,000 บาทต่อเดือน เด็กช่วงอายุ 0-6 ปีให้การศึกษาฟรี ค่าอาหารและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง พร้อมขยายประกันสังคมให้คลอบคลุมแรงงานนอกระบบ และอุดหนุนผู้สูงอายุ 1,800 บาทต่อเดือน
ขณะที่นายวราวุธ พรรคชาติไทยพัฒนา ระบุว่า สนับสนุนสวัสดิการถ้วนหน้า แต่ไม่สามารถให้ได้ครบ 100% เนื่องจากมีงบประมาณไม่มาก ส่วนการเรียนฟรีถึงระดับอุดมศึกษาจะสนับสนุนบางสายเท่านั้น นอกจากนี้จะมีการขยายการเกษียณอายุราชการเป็น 65 ปี และส่งเสริมให้ผู้ที่เกษียณอายุราชการกลับมาทำงาน
เราเชื่อมั่นว่าทุกคนหมดเวลาสำหรับของฟรี อยากได้เงินต้องทำงานก่อน
นายสุวัจน์ พรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า ให้ความสำคัญสวัสดิการพื้นฐานทั่วหน้า เนื่องจากก่อนหน้านี้มีพื้นฐานเรื่องการประกันการว่างงาน พรรคมีนโยบายขยายเวลาเกษียนอายุราชการ เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 2,000 บาท สร้างศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ มีกองทุนเด็กแรกเกิดจนถึงวัยเรียน กองทุนสวัสดิการชุมชน และการกำหนดออกแบบอารยสถาปัตย์ให้ทั่วถึงอำนวยความสะดวกการใช้พื้นที่สาธารณะ
ด้านนายเกียรติ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสวัสดิการว่าเป็นนโยบายที่สำคัญ เบี้ยผู้สูงอายุเริ่มจากรัฐบาลประชาธิปัตย์ ซึ่งขณะนี้มีความท้าทายมากขึ้น แต่ภาษียังต่ำ ส่วนนโยบายที่พรรคออกมาชัดเจน คือการดูแลตั้งแต่เด็กแรกเกิดถึง 8 ขวบ รับสิทธิ์เดือนละ 1,000 บาท เรียนฟรีมีคุณภาพ โอนเงินเข้าบัญชีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ 1,000 บาทต่อเดือน คนพิการ 1,000 บาทต่อเดือน และเพิ่มการออมตามความสมัครใจ
ส่วนนายนพดล พรรคเพื่อไทย ระบุว่า รัฐสวัสดิการทั่วหน้าเป็นเป้าหมาย ต้องดูแลเด็กตั้งแต่แรกเกิดให้ดีที่สุด ส่วนผู้สูงอายุ มีเบี้ยผู้สูงอายุ 1,000 บาทเมื่ออายุครบ 60 ปีและสนับสนุนการจ้างงานผู้สูงอายุ ส่วนการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ควรเป็น 400 บาท และเงินเดือนปริญญาตรีควรเป็น 18,000 บาท สำหรับประเด็นที่ดินทำกิน ต้องนำนโยบาย สปก.พารวย โดยเอาที่ดิน สปก.คืนมาแล้วให้เกษตรกรรุ่นใหม่นำที่ดินไปพัฒนาและสร้างรายได้
และนายภราดร พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคมีนโยบายสวัสดิการ โดยให้การเรียนฟรีตลอดชีวิต นำเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และหลักประกันสุขภาพ โดยยกระดับ อสม.เป็นหมอประจำหมู่บ้าน เพื่อลดภาระให้กับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ แต่ปัญหาคือประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีไม่สมบูรณ์แบบ ดังนั้นรัฐต้องเน้นย้ำจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพ
ขณะที่ ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งคำถามกับพรรคภูมิใจไทย ว่า ถ้าจัดสรรงบประมาณเพื่อเพิ่มเติมเงินสวัสดิการจะมีแนวทางเกลี่ยงบประมาณอย่างไรและจะลดงบประมาณส่วนไหนบ้าง ซึ่งนายภราดร ตอบคำถามนี้ว่า จะจัดลำดับความสำคัญของเงินงบประมาณ 3 ล้านล้านบาทนำไปจัดการส่วนที่สำคัญก่อน ส่วนที่ไม่สำคัญอย่างกระทรวงกลาโหม อย่างการซื้อยุทโธปกรณ์ที่ไม่จำเป็น ก็ต้องเอาเงินกลับมาเพื่อไปซื้อสิ่งจำเป็นเร่งด่วน
หากพรรคถูกเชิญรวมรัฐบาล แต่ไม่ผลักดันนโยบายเศรษฐกิจของพรรคจะเลือกเป็นฝ่ายไหน
นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ พรรคเศรษฐกิจใหม่ กล่าวว่า เลือกเป็นฝ่ายค้าน เพราะตัวเองเคยดำรงตำแหน่งสำคัญมาแล้ว ไม่ได้มองว่าเป็นการเสียโอกาส แต่หากทำแล้วประเทศเสียหายนั้นคือการเสียโอกาส
การทำหน้าที่ฝ่ายค้าน จะตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้น ต้องทำระบบเศรษฐกิจใหม่ 15 ล้านล้านบาทที่ถูกผูกขาดจากกลุ่มทุน หากปล่อยไว้อย่างนี้คนจะจนอยู่ต่อไป
ประเทศไทยขนาดใหญ่เท่าฝรั่งเศส แต่รายได้ต่อคน 2 แสนบาท แต่ฝรั่งเศสมีรายได้ต่อคน 1 ล้านบาท หากการบริหารจัดการผิดพลาด ผมไม่ร่วมรัฐบาล
ถ้าพรรคถูกเชิญร่วมรัฐบาลแต่เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ไม่ถึง 250 ชาติไทยพัฒนาจะยอมร่วมรัฐบาลหรือไม่ ถ้าไม่ได้คุม ก.เกษตร
นายวราวุธ ศิลปอาชา พรรคชาติไทยพัฒนา ระบุ เรื่องกระทรวงไม่เป็นเงื่อนไข ส่วนประเด็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ลืมไปได้เลย ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ พรรคที่ได้เสียงข้างมากจะเป็นคนเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรขึ้นมา ยืนยันรัฐบาลเสียงข้างน้อยเกิดขึ้นไม่ได้
พรรคตั้งรัฐบาลไม่ได้เสียงข้างมาก ชาติพัฒนาจะร่วมด้วยหรือไม่
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ พรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า โนพลอมแพลม เราจะไม่สร้างปัญหาทางการเมือง จุดยืนเรียกร้องให้ประคับประคองเข้าสู่สนามเลือกตั้งและยอมรับผลการเลือกตั้ง ซึ่งครั้งนี้จะมีคนใช้สิทธิถล่มทลาย ทุกพรรคต้องยอมรับ ซึ่งจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่าประชาชนต้องการอะไร
จุดยืนของพรรคไม่แบ่งฝ่าย ไม่สร้างความตีบตันทางการเมือง ให้เกิดพื้นที่เปิดกว้างและฟังเสียงประชาชน โดยเศรษฐกิจต้องดีขึ้นและไม่ขัดแย้ง
ถ้าประชาธิปัตย์เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล โดยรวมเสียงกับพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์จะปฏิเสธ 4 รัฐมนตรีแกนนำของพรรคหรือไม่
นายเกียรติ สิทธีอมร พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า 4 รัฐมนตรีนี้จะรับหรือไม่รับหากมาในด้านเศรษฐกิจ อาจเข้าร่วมได้ แต่ต้องทำตามนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ ต้องคุยให้รู้เรื่องให้เข้าใจจริงๆแล้วพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้มีเพียง 4 คนนี้ และมีหลายคนอยู่ในพรรคที่มีคุณภาพ แต่ตอนนี้เห็นความขัดแย้ง แม้แต่คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาที่บอกว่านโยบายประชานิยมเยอะแยะ เอาเงินมาจากไหน แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าทำไมคุณถึงให้พรรคที่จะทำอย่างนั้นเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี
หากท่านได้เป็นรัฐบาลท่าจะแก้ปัญหารวยกระจุก จนกระจายอย่างไร
นายเกียรติ พรรคประชาธิปัตย์ ระบุ ที่ผ่านมาวิธีวัดใช้ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) อย่างเดียว ซึ่งเป็นวิธีที่ผิดต้องใช้ดัชนีชี้วัดใหม่ชื่อว่า PITI (Prosperity Index Thailand Initiative) หรือ ดัชนีปิติ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจเพื่อชีวิตประชาชนอย่างแท้จริง โดยเน้น เน้นเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้พรรคยังมีนโยบายเน้นลดความเหลื่อมล้ำ โครงการโฉนดชุมชน ต่อยอดเป็นโครงการโฉนดสีฟ้า มีกองทุนน้ำดูแลน้ำทุกชุมชน การศึกษาและสาธารณสุขต้องเท่าเทียม ประกันรายได้เกษตรกรและแรงงาน อัตราภาษีก้าวหน้า แก้ปัญหาช่องโหว่งการค้า และบุคคลที่เป็นนักการเมืองต้องสะอาด
การวัดเศรษฐกิจโดยใช้ GDP อย่างเดียว เป็นวิธีที่ผิดต้องใช้ดัชนีชี้วัดใหม่ ชื่อว่า PITI หรือ ดัชนีปิติ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจเพื่อชีวิตประชาชนอย่างแท้จริง โดยเน้น เน้นเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ปัญหาการธุรกิจโดยคนต่างชาติในรูปแบบของนอมินี นั้นปัญหาเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายไม่ถูกต้องกฎหมาย พ.ร.บ.ธุรกิจคนต่างด้าว ที่มีผลบังคับใช้ในปี 2542 ซึ่งบุคคที่เป็นนอมินีผิดทั้งผู้ให้ถือและผู้ถือให้ กระทรวงพาณิชย์ต้องดูแลอย่างเข้มงวด ซึ่งมีโทษปรับและโทษอาญา
นายภราดร พรรคภูมิใจไทย ระบุ พรรคเราต้องการทลายทุกข้อจำกัด เพิ่มอำนาจให้กับประชาชนกฎหมายที่ล้าหลังเป็นปัญหาที่เหนี่ยวรั้งไม่ให้ก้าวหน้า เราเน้นนโยบาย Sharing economy ซึ่งเป็นแนวคิดสังคมเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน
ควรผลักดันแชร์ริ่งอิโคโนมี่ เช่น Grab ต้องผลักดันพ.ร.บ.ขนส่งให้ Grab ขับได้อย่างถูกกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนขับขี่เพื่อเพิ่มรายได้
นายนพดล พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ต้องกระจายอำนาจ จัดสรรงบประมาณ ลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดการผูกขาด จัดเก็บภาษีตามความสามารถชำระ สร้างรายได้ประชาชน นอกจากนี้ต้องปรับโครงสร้างการเกษตรให้ผลิตพืชปลอดสารพิษ ผู้ปลูกและผู้บริโภคต้องปลอดภัย ปรับหนี้ พักชำระหนี้เกษตรกร หนีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หนี้ข้าราชการครู สร้างสถาบันพัฒนารายได้ เติมทุนให้เกษตรกร สนับสนุนปัจจัยการผลิต ตันละ 5,000 บาท ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และเพิ่มโอกาสทางการศึกษา
น.ส.ศิริกัญญา พรรคอนาคตใหม่ เผยว่า การดูการเจริญเติบโตไม่ควรดูแต่ GDP เนื่องจากไม่สะท้อนรายได้ภาพรวมของคนทั้งประเทศ ตัวอย่างรายได้เกษตรกรไม่เติบโตขึ้นต้องปรับฐานรากมาเป็นส่วนบนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น เกษตรอินทรีย์ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SME ปลดล็อกกฎหมายเอื้อทุนใหญ่ เลิกสัมปทานผูกขาด
นายมิ่งขวัญ พรรคเศรษฐกิจใหม่ กล่าวว่า ผมรู้สึกรังเกียจความเหลื่อมล้ำ ตัวเลข GDP มี 10 ธุรกิจที่มั่งคั่งด้วยเม็ดเงิน 1.2 ล้านล้านบาทใน 5 ปี ถึงเวลาต้องผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ การครอบงำและการผูกขาด ทำให้คนไม่มีโอกาส สัมปทานทั้งหมดของรัฐต้องถูกเปิดเผย และสิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องดำเนินการคือ เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในไทยทำให้มีรายได้เพิ่ม แต่คนไทยไม่ได้รายได้จริง แต่ถ้าทำให้ไทยเป็นดิวตี้ฟรีจะทำให้ได้เงินเพิ่มอีก 2 ล้านล้านบาท โดย SME ไทยจะขยายตัวตาม
นายวราวุธ พรรคชาติพัฒนา ระบุ การแก้จนกระจาย คือ ต้องแก้ที่ต้นทุนการผลิตใช้องค์ความรู้ของเกษตรกร และเทคโนโลยี เช่น การค้าออนไลน์มาช่วยในการขายส่งเสริมเกษตรกรเป็นเจ้าของธุรกิจให้เยาวชนเป็นเจ้าของกิจการ ไม่ใช่เป็นลูกจ้างส่วนรวยกระจุกต้องแก้ปัญหาด้วยมาตรการภาษี
นโยบายอุดหนุนภาคเกษตร ควรหยุดลด แลก แจก แถม แต่ควรเน้นการลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรเพื่อให้เกษตรกรยืนได้เอง