ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ต้นเพลิงชั้นใต้ดิน" สะเทือนถึงชั้น 8 ไขปมไฟไหม้เซ็นทรัลเวิลด์

อาชญากรรม
12 เม.ย. 62
16:29
6,953
Logo Thai PBS
"ต้นเพลิงชั้นใต้ดิน" สะเทือนถึงชั้น 8 ไขปมไฟไหม้เซ็นทรัลเวิลด์
จากเหตุเพลิงไหม้ บางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ อาคารเซ็นทรัลเวิลด์ บุษกร แสนสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบความปลอดภัยอาคารและอัคคีภัย วสท. อธิบายเหตุต้นเพลิงจากชั้นใต้ดิน B2 ส่งควันผ่านท่อระบายอากาศพุ่งทะลักชั้น 8 ได้อย่างไร

วานนี้ (11 เม.ย.2562) จากเหตุเพลิงไหม้ บางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ อาคารเซ็นทรัลเวิลด์ โดยนายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุว่า พบต้นเพลิงมาจากชั้นใต้ดิน "B2" แต่ควันและไฟไหลตามท่อระบายอากาศขึ้นชั้น 8 จนเกิดความร้อนสะสมปะทุปิดทางหนีไฟ ขณะที่มีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์บางส่วนวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ได้ยินสัญญาณเตือนไฟไหม้ในช่วงที่เกิดเหตุ

ล่าสุด น.ส.บุษกร แสนสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบความปลอดภัยอาคารและอัคคีภัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่า เบื้องต้น จากการตรวจสอบในวันนี้พบต้นเพลิงที่ชั้นใต้ดิน หรือ B2 ซึ่งเป็นโซนบ่อบำบัด ที่มีการเก็บสารเคมีแต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเกิดประกายไฟที่ก่อให้เกิดเพลิงไหม้จากสิ่งใด เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปภายในห้องได้ เพราะมีน้ำอยู่บนพื้นค่อนข้างสูงจากการดับไฟ


นอกจากนี้ ยังพบปล่องท่อลมสำหรับระบายอากาศที่มีความเสียหายและมีการหลอมละลาย ในชั้นใต้ดิน หรือ B2 โดยท่อลมจะปล่อยควันออกมาระยะหนึ่งแล้วนำส่งไปที่ปล่องแนวดิ่งเพื่อบังคับทิศทางให้ควันไปออกที่ชั้น 8 และปลายท่อแนวนอนที่ชั้น 8 มีพัดลมระบายอากาศอยู่ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐาน เนื่องจากควันไม่ได้เล็ดลอดไปชั้นอื่นแต่พุ่งไปที่ชั้น 8 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดเพียงชั้้นเดียว แต่ท่อระบายอากาศที่วางขนานกับเพดานที่ชั้น 8 ทำด้วยวัสดุที่เป็นไฟเบอร์กลาส ซึ่งสามารถทนไฟได้เพียง 100 องศาเซลเซียสเท่านั้น แต่ต้นเพลิงที่เกิดการปะทุมีทั้งกลุ่มควันลอยขึ้นไปตามท่อจนเกิดเป็นลูกไฟขนาดใหญ่ที่คาดว่ามีความร้อนสูงกว่า 700-800 องศาเซลเซียส 

ในกรณีนี้ท่อระบายอากาศใช้วัสดุที่เป็นไฟเบอร์ซึ่งทนความร้อนได้ประมาณ 100 องศาเซลเซียส และไฟเบอร์กลาสเองก็เป็นเชื้อเพลิงด้วย จึงทำให้ปล่องระบายควันเกิดไฟไหม้และขาดจนควันหลุดออกมาที่ชั้น 8 

สำหรับระบบระบายอากาศภายในอาคารนั้น ส่วนใหญ่จะเน้นเพื่อระบายอากาศในห้องเท่านั้น ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับความร้อน หลังจากนี้อาจต้องมีการปรับปรุงส่วนของท่อระบายอากาศแนวนอนที่อยู่ในห้องชั้น 8 โดยต้องใช้วัสดุห่อหุ้มท่อระบายอากาศสู่นอกอาคาร ให้สามารถทนไฟได้มากขึ้น

เตือนไฟไหม้จุดเกิดเหตุการณ์ อพยพคนฉุกเฉินก่อน

หลังจากลงพื้นที่ตรวจสอบระบบเตือนภัยในอาคารเซ็นทรัลเวิลด์ พบว่า มีการติดตั้งเครื่องตรวจจับความร้อน (Heat Detector) แต่เครื่องนี้อาจจะทำงานช้า เนื่องจากต้องรอให้มีความร้อนสูงถึงจุดที่ต้องแจ้งเตือน ส่วนเครื่องตรวจจับควัน (Smoke Detector) ก็มีการติดอยู่ในอาคารเช่นกัน แต่การเตือนภัยขั้นอยู่กับลักษณะอาคาร


สำหรับลักษณะอาคารของเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งมีหลายอาคาร คาดมีความเป็นไปได้ที่จะมีระบบเตือนภัย 2 รูปแบบ รูปแบบแรก คือ การติดตั้งระบบเตือนภัยแบบแยกแต่ละส่วน เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ภายในอาคารหนึ่ง ระบบเหล่านี้จะเชื่อมโยงเพื่อแจ้งสัญญาณเตือนภัยถึงกันอีกรูปแบบ คือ มีระบบแจ้งเตือนเพียงระบบเดียว แต่แบ่งโซนแจ้งเตือน เช่น พื้นที่เกิดเหตุแจ้งเตือนก่อน แล้วค่อยแจ้งเตือนไปยังโซนอื่นซึ่งเป็นระบบอัตโนมัติตามที่เจ้าหน้าที่ตั้งเวลาไว้ เมื่อเกิดเหตุรุนแรงขึ้น ซึ่งส่วนนี้เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว

(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : เซ็นทรัลเวิลด์ แจงสัญญาณเตือนไฟไหม้ไม่ดังทุกจุด หวั่นโกลาหล)

จากที่ได้ทราบมา มีคนที่อยู่ใกล้ชั้นใต้ดินได้ยินสัญญาณเตือน จึงคิดว่าเซ็นทรัลเวิลด์มีการแบ่งโซนแจ้งเตือน ตามหลักสากลแล้วก็ควรจะมีสัญญาณเตือนในชั้นที่เกิดเหตุก่อน เพื่อให้คนที่ใกล้ที่สุดอพยพได้ทันที ไม่แออัด

น.ส.บุษกร ระบุว่า หากมีการแจ้งเตือนสัญญาณไฟไหม้ดังพร้อมกันทั้งหมด อาจจะทำให้เกิดการแออัดกัน โดยเฉพาะพื้นที่เกิดเหตุที่อาจทำให้มีการอพยพช้า ขณะที่เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นตามปกติ เพราะฉะนั้น ไม่ทราบว่าขั้นตอนการตั้งเวลาในระบบแจ้งเตือนตั้งไว้อย่างไร เพราะเกิดเหตุที่ชั้นใต้ดิน แต่ควันพุ่งขึ้นไปบนชั้น 8 แล้ว ทำให้อาจจะแจ้งเตือนไม่ทัน

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง