ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"เวิลด์แบงก์" มองไทยตั้งรัฐบาลล่าช้ากระทบลงทุน

เศรษฐกิจ
24 เม.ย. 62
14:34
709
Logo Thai PBS
"เวิลด์แบงก์" มองไทยตั้งรัฐบาลล่าช้ากระทบลงทุน
ธนาคารโลก ปรับตัวเลขเศรษฐกิจไทยลดลงเหลือร้อยละ 3.8 หลังเศรษฐกิจโลกขยายตัวชะลอลง พร้อมมองว่าไทยต้องเร่งจัดตั้งรัฐบาลใหม่เพื่อให้เข้ามาสานต่อโครงการลงทุนขนาดใหญ่

วันนี้ (24 เม.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารโลก ได้เปิดเผยรายงาน East Asia and Pacific Update เดือน เม.ย.2562 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก จะเติบโตร้อยละ 6.0 ในปี 2562-2563 จากเดิมที่เคยเติบโตร้อยละ 6.3 ในปี 2561 เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่จะชะลอตัวกว่าที่คาดไว้ ขยายตัวได้ร้อยละ 6.2 ในปี 2562-2563 ลดลงจากร้อยละ 6.6 ในปี 2561 รวมถึงปัญหาความตึงเครียดทางการค้าที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทยของธนาคารโลก เปิดเผยว่า การค้าโลกที่ชะลอตัวเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะเติบโตชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 3.8 จากเดิมที่ร้อยละ 3.9 จะลดลงจากปีก่อนที่ร้อยละ 4.1 และปี 2563 เติบโตร้อยละ 3.9 เนื่องจากมีความตึงเครียดในเรื่องของการค้า ส่งผลกระทบต่อการส่งออกให้ขยายตัวลดลงร้อยละ 5.7 จากปีก่อนที่โตร้อยละ 5.9 และปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 5.5 ขณะที่การท่องเที่ยวของไทยปรับตัวลดลงด้วยแม้จะเห็นสัญญาณดีขึ้นในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.

 

แต่หากเทียบกับเศรษฐกิจในประเทศภูมิภาค ไทยยังมีศักยภาพสามารถขยายตัวได้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งการลงทุนของภาครัฐและเอกชนและการบริโภคเริ่มปรับตัวดีขึ้น และการปรับลดตัวเลขเศรษฐกิจในครั้งนี้ยังไม่ได้รวมปัจจัยปัญหาการเมืองในประเทศ แต่ยอมรับว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย หากการจัดตั้งรัฐบาลมีความล่าช้าก็จะมีผลกระทบต่อการลงทุนของภาครัฐและความเชื่อมั่นของภาคเอกชน โดยเฉพาะโครงการลงทุนของเอกชนในอนาคต

ส่วนการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ มองว่า ไทยยังมีช่องวางเพียงพอที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยมีหนี้สาธารณะไม่สูงและอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นจึงสามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในช่วงระหว่างที่รอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

 

ด้านนางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ระบุว่า การจัดตั้งรัฐบาลเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการลงทุนของภาครัฐที่จะเข้ามาขับเคลื่อนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในอีอีซี ที่จะต้องเข้ามาสานต่อการลงทุนให้เกิดขึ้นและจะเป็นตัวผลักดันการลงทุนของภาคเอกชน

ด้านนายแอนดรู เมสัน รักษาการหัวหน้าเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เปิดเผยว่า ประเทศในภูมิภาคเอเชียจะต้องรับมือกับเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งธนาคารโลกได้เสนอให้เพิ่มความสามารถนโยบายการคลัง โดยการเพิ่มเงินสำรองต่างประเทศ เพื่อลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและยังต้องมีการปรับนโยบายการเงินให้มีความเป็นกลางมากขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง