ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วอนคนติดเชื้อเอชไอวี อย่าส่งต่อเชื้อโรค ด้วยการบริจาคโลหิต

สังคม
10 พ.ค. 62
15:57
8,636
Logo Thai PBS
วอนคนติดเชื้อเอชไอวี อย่าส่งต่อเชื้อโรค ด้วยการบริจาคโลหิต
"หมอแล็บแพนด้า" อธิบายขั้นตอนการตรวจรับบริจาคเลือด ยังมีช่องโหว่ในกระบวนการตรวจหาเชื้อเอชไอวี ขณะที่หลายปีก่อน เคยมีเด็กวัย 4 ขวบจาก จ.ยะลา ติดเชื้อจากการรับเลือด ส่วนในจีนเคยมีรายงานเช่นกัน

จากกรณีที่มีผู้ป่วยชายรายหนึ่งออกมาเปิดเผยว่า ป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว แต่กลับติดเชื้อเอชไอวี โดยไม่รู้ตัว จากการรักษาโรคด้วยการให้เลือดจากโรงพยาบาลเอกชนชื่อดัง หลายคนสงสัยเกิดขึ้นได้อย่างไร

ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก "หมอแล็บแพนด้า" อธิบายว่า การตรวจเชื้อเอชไอวีในเลือดที่บริจาคนั้น ทางห้องแล็บจะมีการตรวจหาเชื้อเอชไอวีทุกถุง แต่มีกรณีที่ผู้ให้เลือดเพิ่งไปมีพฤติกรรมเสี่ยงมาไม่ถึง 11 วัน ทำให้ไม่สามารถตรวจพบเชื้อได้ โดยข้อความบางส่วน ระบุว่า 

ก่อนที่จะให้เลือดแก่ผู้ป่วย ห้องแล็บจะมีการตรวจหาเชื้อเอชไอวีทุกถุง ด้วยหลักการตรวจ 2 หลักการ ได้แก่

  • วิธีที่ 1 ตรวจหาโปรตีนของเชื้อและตรวจหาภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้น
  • วิธีที่ 2 เป็นวิธีที่ดีที่สุดในปัจจุบัน คือ การตรวจหา DNA ของเชื้อเอชไอวี อันที่จริงมันเป็น RNA ประเทศไทยก็มีการตรวจด้วยวิธีนี้

แล้วทำไมผู้ป่วยถึงติดเอดส์ ขอตอบว่า ถึงเราจะมีเครื่องที่ดีที่สุดในโลก แต่มีข้อจำกัดอยู่ว่า จะตรวจเจอเชื้อได้เร็วที่สุดเฉลี่ยประมาณ 11 วัน 

กำลังจะบอกว่า หากวันหนึ่งไปมีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีเชื้อเอชไอวีแบบไม่ได้ป้องกัน และได้รับเชื้อเอชไอวี เครื่องที่ดีที่สุดในโลกก็ตรวจไม่พบ เพราะเชื้อที่เราเพิ่งได้รับเข้าไปมีแค่นิดเดียว ทางการแพทย์เรียกว่าช่วง วินโดว พีเรียด (window period) ต้องรอให้มันขยายพันธุ์หรือเพิ่มปริมาณในร่างกายก่อน ซึ่งประมาณ 11 วัน หลังจากรับเชื้อจึงจะตรวจเจอ

บางคนสงสัยต่อว่า วันที่จะตรวจพบคือประมาณวันที่ 11 ทำไมไม่รอก่อน รอสักเดือนนึงก็ได้ ค่อยนำเลือดนั้นไปตรวจเชื้อ ตอบว่า ไม่ได้ เพราะว่าเชื้อที่อยู่ในถุงไม่ใช่ทิ้งไว้นาน ๆ แล้วมันจะเพิ่มจำนวนจนตรวจพบ ส่วนใหญ่ DNA มักจะค่อย ๆ เสื่อมสภาพด้วยซ้ำ เรียกว่า degrade และหากปล่อยเลือดไว้นาน เลือดจะไม่มีคุณภาพเลย โดยเฉพาะเกล็ดเลือดที่มีอายุสั้นมากเพียงแค่ 3-5 วันเท่านั้น

บางอยากตรวจเอชไอวีฟรี ๆ จะไปโรงพยาบาลไปขอตรวจเอชไอวีก็อาย เลยทำเนียนไปบริจาคโลหิต (สมมติว่าผ่านไปแค่ 2-3 วัน) แบบสอบถามก่อนบริจาคโลหิตเขาถามว่า คุณไปเสี่ยงมาหรือไม่ก็เลือกที่จะตอบว่าไม่เสี่ยง เป็นพฤติกรรมที่ไม่ควรทำ เพราะเลือดนี้จะถูกนำไปช่วยเหลือผู้ป่วย

พฤติกรรมแบบนี้อย่าไปทำนะครับ เครื่องไหนก็ตรวจหาเชื้อไม่เจอ มันจะเจอวันที่ 11แล้วเลือดคุณก็จะถูกนำไปให้เด็ก ให้ผู้ป่วยตาดำ ๆ สุดท้ายพวกเขาก็กลายเป็นเอดส์

หากสงสัยว่าตัวเองจะได้รับเชื้อเอชไอวี ขอแนะนำให้ไปคลินิกนิรนาม เพราะไปที่เดียวจบครบวงจร มีเครื่องมือที่ดีที่สุด มียาฟรี และมียาจำหน่ายในราคาที่ถูกที่สุด

อีกกลุ่มหนึ่งคือผู้ที่กำลังรับยาต้านเอชไอวีอยู่ อย่าบริจาคโลหิต เพราะมีเชื้ออยู่ในร่างกาย พอเข้าใจหรือยังว่า "ความซื่อสัตย์" ของผู้บริจาคเลือดมีความสำคัญยังไง 

 

 

ไม่ใช่เคสแรก ติดเชื้อ  HIV จากการรับเลือด 

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้รวบรวมข้อมูล พบว่าก่อนหน้านี้ เคยกรณีเด็ก 4 ขวบติดเชื้อเอชไอวีจากการให้เลือดของโรงพยาบาล ใน จ.ยะลา เมื่อปี 2548 ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลา เด็กที่ได้รับเชื้อเป็นฝาแฝด โดยเป็นแฝดพี่ ส่วนแฝดน้องไม่มีปัญหาสุขภาพ แรกคลอดแฝดพี่มีน้ำหนักแรกคลอดเพียง 1,300 กรัม ต่อมาแพทย์พบว่ามีปัญหาเลือดจาง โรงพยาบาลจึงต้องให้เลือดหลายครั้ง และเมื่อปี 2552 มีการตรวจพบว่า เลือดจากโรงพยาบาลที่ให้เด็กเมื่อ 4 ปี ก่อนมีเชื้อเอชไอวี 

นพ.กุลเดช เตชะภารักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ยะลาในขณะนั้น ระบุว่าจากการสอบสวนพบว่าเด็กติดเชื้อจากการให้เลือด ก่อนย้ำว่า มาตรฐานที่ทางโรงพยาบาลใช้ในการตรวจหาเชื้อเอชไอวีจากเลือดที่ได้รับจากการบริจาคก่อนนำไปใช้กับผู้ป่วย เป็นมาตรฐานเดียวเหมือนกับทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ

ในจีนเคยเคสเด็กติดเชื้อจากการถ่ายเลือด

อีกกรณีหนึ่งเกิดขึ้นที่มณฑลฝูเจี้ยน ประเทศจีน เด็กหญิงวัย 5 ขวบติดเชื้อเอชไอวีจากการถ่ายเลือดระหว่างรับการผ่าตัดหัวใจ

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2553 เด็กหญิงเหมาเหมา อายุเพียง 8 เดือน เข้ารับการผ่าตัดหัวใจในโรงพยาบาลดังกล่าว ระหว่างนั้นได้รับการถ่ายเลือด ที่มาจากทางธนาคารเลือดอีกทอด

พ่อแม่ของเด็กหญิงคนดังกล่าว ระบุว่า หลังการผ่าตัดเสร็จสิ้น ลูกกลายเป็นเด็กที่ป่วยง่าย ผ่านมา 4 ปี กระทั่งปี 2557 เด็กหญิงมีอาการมีไข้สูงต่อเนื่อง เป็นเวลา 17 วัน ก่อนจะตรวจพบว่ามีเชื้อเอชไอวี ในปีเดียวกัน

ขณะที่ กองการสุขภาพและการวางแผนครอบครัวประจำมณฑลฝูเจี้ยน ให้ข้อมูลว่า เลือดที่นำมาใช้ในการผ่าตัดให้เด็กหญิงมาจากผู้บริจาค 8 คน หนึ่งในนั้นเป็นเลือดที่อยู่ในช่วงตรวจไม่พบเชื้อเอชไอวี หรือที่เรียกกันว่า ช่วงวินโดว พีเรียด ซึ่งอยู่ระหว่าง 2-4 สัปดาห์เจ้าหน้าที่จึงตรวจไม่พบความผิดปกติในผลเลือด นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า มีผู้ป่วยอีก 2 คน ที่รับเลือดจากผู้บริจาคคนดังกล่าว 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง