แค่ 5 เดือนกิน "เห็ดพิษ" เสียชีวิต 5 คน ป่วย 141 คน

สังคม
6 มิ.ย. 62
15:33
3,281
Logo Thai PBS
แค่ 5 เดือนกิน "เห็ดพิษ" เสียชีวิต 5 คน ป่วย 141 คน
กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนที่เก็บหรือซื้อเห็ดป่ามาปรุงอาหารรับประทาน ให้ระมัดระวังอาจเป็นเห็ดพิษ เสี่ยงเสียชีวิตได้ เฉพาะ 5 เดือนแรกของปีนี้ พบผู้ป่วยแล้ว 141 คนเสียชีวิต 5 คน แนะเช็กข้อมูลก่อนหากไม่แน่ใจ หรือสงสัยว่าจะเป็นเห็ดพิษ

วันนี้ (6 มิ.ย.2562) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ฤดูฝนทุกปี จะมีเห็ดป่าขึ้นเองตามธรรมชาติ ประชาชนมักเก็บมาขายหรือนำมาปรุงอาหาร ในแต่ละปีจะพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากการรับประทานเห็ดพิษเป็นประจำ เนื่องจากเห็ดป่ามีทั้งเห็ด ที่รับประทานได้ และเห็ดพิษ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้

ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-26 พ.ค.นี้ พบผู้ป่วยจากการรับประทานเห็ดพิษ 141 คน กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ อายุมากกว่า 65 ปี รองลงมา 55-64 ปี และ 25-34 ปี 

จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรกคือ อุบลราชธานี อํานาจเจริญ ศรีสะเกษ ตาก และเพชรบุรี เฉพาะในช่วงหน้าฝน 2 เดือนของปีนี้ ระหว่างพ.ค.-มิ.ย.พบผู้เสียชีวิตแล้วถึง 5 คน

ล่าสุดข้อมูลในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.2562 กรมควบคุมโรค ได้รับรายงานเหตุการณ์ผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษ จำนวน 5 เหตุการณ์ จากจังหวัดศรีสะเกษ ตาก อํานาจเจริญ เชียงใหม่ และเลย

เห็ดระโงกพิษ

เห็ดระโงกพิษ

เห็ดระโงกพิษ

 

"เห็ดระโงกพิษ"สาเหตุคนกินตาย

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เห็ดที่เป็นต้นเหตุทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ คือ เห็ดระโงกพิษ บางแห่งเรียกว่าเห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือเห็ดไข่ตายซาก ซึ่งเห็ดชนิดนี้คล้ายคลึง กับเห็ดระโงกขาว หรือไข่ห่าน ที่สามารถรับประทานได้ แต่แตกต่างกันคือ เห็ดระโงกพิษจะมีก้านสูง กลางดอกหมวกจะนูนเล็กน้อย มีกลิ่นค่อนข้างแรง

นอกจากนี้ยังมีเห็ดป่าชนิดที่มีพิษรุนแรงคือ เห็ดเมือกไครเหลือง โดยประชาชนมักสับสนกับเห็ดขิง ซึ่งชนิดที่เป็นพิษจะมีเมือกปกคลุม และมีสีดอกเข้มกว่า และยากแก่การสังเกตด้วยตาเปล่า

ทั้งนี้ ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ทดสอบความเป็นพิษของเห็ด เช่น การจุ่มช้อนเงินลงไปในหม้อต้มเห็ด การนำไปต้มกับข้าวสาร หรือใช้ปูนกินหมากป้ายที่ดอกเห็ด ถ้าเป็นเห็ดพิษจะกลายเป็นสีดำ เป็นต้น ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการอ้างอิงในการใช้ทดสอบพิษกับเห็ดกลุ่มนี้ได้ โดยเฉพาะเห็ดระโงกพิษที่มีสารพิษที่ทนต่อความร้อน แม้จะปรุงให้สุกแล้ว เช่น ต้ม แกง ก็ไม่สามารถทำลายสารพิษนั้นได้ จึงไม่ควรใช้วิธีการเหล่านี้ทดสอบความเป็นพิษของเห็ด

โดยอาการหลังรับประทานเห็ดพิษ จะคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือถ่ายอุจจาระเหลว ไม่ควรซื้อยากินเองหรือไปรักษากับหมอพื้นบ้าน

 

 

การช่วยเหลือในเบื้องต้นคือกระตุ้นให้ผู้ป่วยอาเจียน ที่สำคัญต้องรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการรับประทานเห็ดโดยละเอียด พร้อมกับนำตัวอย่างเห็ดพิษไปด้วย และควรให้ผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือนัดติดตามอาการทุกวันจนกว่าจะหายเป็นปกติ เนื่องจากเห็ดพิษชนิดร้ายแรงจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนในช่วงวันแรก แต่หลังจากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงตามมาคือ การทำงานของตับและไตล้มเหลว อาจทำให้เสียชีวิตได้

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ขอเตือนประชาชนว่าหากไม่แน่ใจ ไม่รู้จัก หรือสงสัยว่าจะเป็นเห็ดพิษ ไม่ควรเก็บหรือซื้อมาปรุงอาหาร รวมถึงหลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ดร่วมกับดื่มสุรา เพราะฤทธิ์จากแอลกอฮอล์จะทำให้พิษเห็ดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และทำให้อาการรุนแรงขึ้นด้วย ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตือนกินเห็ดป่าช่วงฤดูฝน เสี่ยงอันตรายเจอเห็ดพิษ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง