เหตุการณ์ดังกล่าว กลายเป็นที่มาของปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยถ้ำ ที่ได้รับการขนานนามว่า ยากที่สุดครั้งหนึ่งของโลก เมื่อปลายเดือน พ.ค.
สภาพน้ำท่วมขัง ภายในตัวถ้ำหลวง วนอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง - ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ในช่วงปลายเดือน พ.ค.2562 แอ่งน้ำบริเวณนี้กั้นขวางอยู่บนเส้นทางหลักที่ เด็ก ๆ และโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมี 13 ชีวิตใช้เที่ยวถ้ำในวันนี้เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

จุดนี้เลยจากเนินนมสาวออกไปราว 700 เมตร และห่างจากปากถ้ำ ประมาณ 3 กม. ตามการคำนวณระยะทางล่าสุดของทีมสำรวจกรมทรัพยากรธรณี โดยนายเอกพล จันทะวงษ์ อดีตผู้ช่วยผู้ฝึกสอนทีมฟุตบอล หมูป่าอะคาเดมี เคยบอกเล่าเหตุการณ์นี้ ผ่านรายการเดินหน้าประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม หลังจาก 13 ชีวิต ออกจากโรงพยาบาล โดยพวกเขาตั้งใจจะออกจากถ้ำ ให้ทันก่อนเวลา 17.00 น.เพราะสมาชิกคนหนึ่งต้องไปเรียนพิเศษ อีกคนต้องกลับไปฉลองครบรอบวันเกิดที่บ้านแต่ทั้งหมดก็ต้องมาหยุดอยู่ที่สามแยก

เมื่อไม่สามารถข้ามผ่านสามแยกไปได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการค้นหา และกู้ภัยทีมหมูป่าอะคาเดมีทั้ง 13 ชีวิตให้ออกมาได้อย่างปลอดภัย ท่ามกลางปริมาณน้ำภายในถ้ำ ที่กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ไทยและผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก พร้อมพลังคนอาสานับหมื่น ที่พยายามทุกวิถีทางในการสนับสนุน ตลอด 18 วัน