บุกค้นต้นตอ "ขยะพิษ" โผล่สระแก้ว ผิดแค่ขาดรั้วกั้นมิดชิด

สิ่งแวดล้อม
9 ก.ค. 62
20:14
1,817
Logo Thai PBS
บุกค้นต้นตอ "ขยะพิษ" โผล่สระแก้ว  ผิดแค่ขาดรั้วกั้นมิดชิด
จนท.อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง เข้าตรวจสอบบริษัทอริสา เจ้าของขยะที่ถูกนำไปคัดแยกในป่าอนุรักษ์ จ.สระแก้ว เบื้องต้นพบผิด พ.ร.บ.โรงงาน ไม่มีรั้วรอบขอบชิด สั่งแก้ไขภายใน 15 วัน พร้อมเก็บขยะตรวจ ด้านนักวิชาการ ตั้งข้อสังเกตไม่ถูกแจ้งข้อหาครอบครองขยะอันตราย

กรณีพบชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และขยะอุตสาหกรรม น้ำหนักกว่า 300 ตัน ถูกนำมากองไว้รอการคัดแยกในพื้นที่เกือบ 20 ไร่ เขตป่าอนุรักษ์โซนซี ท้ายหมู่บ้านหนองแก ต.ตาหลังใน อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว 

วันนี้ (9 ก.ค.2562) นายปิตินันต์ อักษร จนท.ฝ่ายโรงงานอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง พร้อมกองสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนตำบลตาสิทธิ์ เข้าตรวจสอบบริษัทอริสา รีไซเคิล จำกัด ต.ตาสิทธิ์ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง โรงงานคัดแยกขยะอุตสาหกรรม ที่รับมาจากบริษัทซันเทคเมทัลส์ จำกัด ในอ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นเจ้าของที่นำขยะมาคัดแยกในพื้นที่ป่าอนุรักษ์แนวเขาซับพลู-เขาภูหีบ บ้านหนองแก จ.สระแก้ว อ้างว่าซื้อขยะต่อมาจากบริษัทอริสา  

จากการเข้าตรวจพบกองขยะอุตสาหกรรม จำพวกชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์ที่รอการคัดแยกจำนวนหนึ่ง แต่ไม่พบขยะอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ โดยมี น.ส.อริสา น้อยเจริญ อ้างเป็นบุตรสาว ของผู้ประกอบการเป็นผู้นำตรวจ และนำใบอนุญาตประกอบกิจการคัดแยกและฝังกลบสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว มาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ พบว่าได้รับอนุญาตประกอบกิจการมาตั้งแต่ปี 2559


แต่ภายในโรงงานแม้ไม่มีกลิ่นเหม็น แต่สภาพโรงงานผิดหลักเกณฑ์ตามพ.ร.บ.โรงงาน2535 คือไม่มีรั้วรอบขอบชิด ไม่มีแผ่นรองกันการชะล้าง และใกล้กับที่พักอาศัย เจ้าหน้าที่จะทำหนังสือแจ้งเตือนให้แก้ไขให้เป็นไปตามกำหนดภายใน 15 วัน หากไม่ทำตามจะดำเนินคดีตามกฎหมาย

ดูด้วยสายตา ลักษณะความแข็งเป็นพลาสติก มาจากกลุ่มยางรถยนต์ ซึ่งนำมากอง เพื่อรอการคัดแยกเพื่อรอขาย และจะเก็บตัวอย่างไปตรวจสอบว่ามีการปนปนเปื้อน วัตถุอันตรายหรือเปล่า

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้จัดเก็บชิ้นส่วนขยะอุตสาหกรรมที่พบบางส่วนไปตรวจสอบหาสารพิษ ซึ่งจะทราบผลภายใน 20 วัน เบื้องต้นกังวลว่าอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะวัสดุที่พบเป็นโลหะ และสารตะกั่ว

ทั้งนี้ น.ส.อริสายืนยันว่า รับเพียงชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์มาจากบริษัทซันเทคเมทัลส์ในจ.ชลบุรีเท่านั้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง  ขีดเส้น 15 วันย้าย "ขยะพิษ 300 ตัน" พ้นป่าอนุรักษ์

 

 

นักวิชาการกังขา ไม่แจ้งข้อหาครอบครองขยะพิษ 

ขณะที่การตั้งข้อหากับผู้ที่อ้างเป็นเจ้าของขยะกากอุตสาหกรรมที่พบในจ.สระแก้ว เพียงข้อหาเดียว คือตั้งโรงงานไม่ได้รับอนุญาต ทั้งๆที่พบขยะอิเล็กทรอนิกส์ปะปน ทำให้มีข้อสังเกตจากนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมว่าอาจเป็นอีกช่องโหว่ของมาตรการติดตามตรวจสอบ 

นายสนธิ คชวัฒน์ ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทยตั้งข้อสังเกตว่า การดูเฉพาะเอกสาร โดยไม่ดูวัตถุพยานที่พบ อาจนำไปสู่การตัดตอนกระบวนการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ซึ่งแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างของเสียอันตราย และไม่อันตราย แม้จะมีคำยืนยันว่า กรมควบคุมมลพิษ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด จะเข้าไปตรวจสอบการปนเปื้อนก็ตาม

บริษัทซันเทคเมทัลล์ จำกัด แจ้งข้อมูลประกอบกิจการเศษเหล็กตัดย่อย อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช ชลบุรี ถือเป็นแหล่งกำเนิดของกากอุตสาหกรรมเหล่านี้ ที่ต้องตรวจสอบการแจ้งนำกากอุตสาหกรรมออกจากโรงงาน ว่ามีกากของเสียที่เป็นอันตรายหรือไม่

 

ห่วงมีผลต่อมาตรการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม

เช่นเดียวกับ บริษัทอริสา รีไซเคิล จำกัด ที่แจ้งประกอบการประมูลรับกากอุตสาหกรรมจากบริษัทซันเทคเมทัลล์ จำกัด ประกอบกิจการคัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียอันตราย เมื่อส่งต่อให้กับรวมใจรีไซเคิล ที่จ.สระแก้ว ก็ต้องถูกตรวจสอบเช่นกันว่าทำตามขั้นตอนกฎหมาย และส่งต่อให้โรงงานกำจัดที่ได้รับอนุญาตหรือไม่

น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ตั้งข้อสังเกตว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลได้ตรวจสอบข้อมูล ตั้งแต่ต้นทางอย่างครบถ้วนหรือยังและควรเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ  เพราะ ตามประกาศของโรงงานถ้าเป็นขยะอันตราย จะต้องส่งไปกำจัดยังโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรม ประเภท 101 105 และ 106 เท่านั้น

กากอุตสาหกรรมที่พบจากขยะกองนี้ ทั้งเศษทองแดง และโลหะ ซึ่งเข้าข่ายของเสียอันตรายต้องถูกฝังกลบอย่างปลอดภัย

 

กรณีนี้จึงไม่ควรจบลงเพียงข้อหาตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ต้องตรวจสอบไปยังต้นทาง ซึ่งนอกจากจะเป็นการพิสูจน์มาตรการที่มีอยู่ว่า ยังมีช่องว่าง หรือหละหลวมในจุดไหน เพราะกากขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ เป็นขยะอันตราย ที่นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและส่งแวดล้อมแล้ว ยังมีต้นทุนสูงในการเยียวยาผลกระทบด้วย 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

แรงงานข้ามชาติ 40 คน รับจ้างแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์วังน้ำเย็น

จ่อตรวจสอบขยะอิเล็กทรอนิกส์ในเขตป่าอนุรักษ์ จ.สระแก้ว 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง