ชาวนาหวั่นเกิดปัญหาแย่งน้ำ "ลุ่มน้ำชี"

ภูมิภาค
19 ก.ค. 62
19:15
3,878
Logo Thai PBS
ชาวนาหวั่นเกิดปัญหาแย่งน้ำ "ลุ่มน้ำชี"
"แม่น้ำชี" หนึ่งในแม่น้ำสายหลักของภาคอีสาน ระดับน้ำลดลงต่อเนื่อง น้ำที่จะระบายจากหลายเขื่อนเหลือน้อย ทำได้เพียงการผลิตน้ำประปาเท่านั้น ไม่พอต่อภาคการเกษตร

ภาพมุมสูงเผยให้เห็นแม่น้ำชีช่วงที่ไหลผ่านพื้นที่ ต.หัวเมือง อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร น้ำแห้งขอดเป็นระยะหลายกิโลเมตร ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากในพื้นที่ฝนไม่ตก ประกอบกับเขื่อนยโสธรที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือปิดประตูระบายน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคเช่นเดียวกับ สภาพแม่น้ำชีช่วงไหลผ่านบ้านท่าสองคอน อ.เมืองมหาสารคาม แห้งขอดเดินข้ามได้ หลังฝนทิ้งช่วงเกือบ 2 เดือน



พื้นที่ลุ่มน้ำชี ที่ลำน้ำยาวเกือบ 800 กิโลเมตร ไหลจาก จ.ชัยภูมิ ไป ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และยโสธร เป็นอีกหนึ่งลุ่มน้ำ ที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สั่งการให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำเป็นพิเศษ หลังระดับน้ำลดลงต่อเนื่อง

 

ขณะที่เขื่อนหลักที่ทำหน้าที่เติมน้ำในลำน้ำชีเหลือน้ำน้อย เขื่อนจุฬาภรณ์ เหลือน้ำใช้การกว่า 7 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนอุบลรัตน์ เหลือน้ำก้นอ่างกว่า 500 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำใช้การติดลบ และเขื่อนลำปาว น้ำใช้การเหลือกว่า 400 ล้านลูกบาศก์เมตร การระบายน้ำหลังจากนี้ จึงต้องมุ่งเพื่อการผลิตประปาเท่านั้น และงดจ่ายน้ำให้ภาคการเกษตรผ่านคลองชลประทาน

ส่วนการควบคุมการสูบน้ำจากลำน้ำชี ล่าสุดมีหนังสือจากชลประทานจังหวัดมหาสารคาม ขอความอนุเคราะห์ให้ใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและการประปาเท่านั้น และขอให้งดสูบน้ำเพื่อภาคการเกษตร จนกว่าจะมีน้ำต้นทุนเพียงพอ

แล้งน้ำแห้ง หวั่นปัญหาแย่งน้ำ

นายธานี รักษาผล เร่งซ่อมท่อสูบน้ำ เพื่อสูบน้ำเข้าสู่นาข้าวใน ต.เกิ้ง อ.เมืองมหาสารคาม เขาเช่าที่นากว่า 70 ไร่ เพื่อปลูกข้าว ส่วนใหญ่เริ่มแห้งตาย แต่ที่นา 10 ไร่แปลงนี้ อยู่ติดคลองชลประทาน รับน้ำจากสถานีสูบน้ำแม่น้ำชี จึงเป็นความหวังเดียวที่จะได้เก็บเกี่ยวเมื่อชลประทานขอความร่วมมือให้สถานีสูบน้ำงดสูบน้ำเพื่อภาคการเกษตร จึงออกมาคัดค้านทันที เพราะมองว่าอาจทำให้เกิดการแย่งน้ำระหว่างชาวนากับการผลิตประปา

"เขาไม่ให้สูบ ผมว่าชาวนาเขาไม่ยอม ทำยังไงก็ไม่ยอม เพราะหมู่บ้านมีชาวนานับพันคน ต้องเรียกร้องให้สูบให้ได้ มีเครื่องไว้ทำไมไม่สูบ"

 

แม้ชลประทาน จ.มหาสารคาม จะอ้างถึงความจำเป็นที่ต้องใช้น้ำจากลำน้ำชี เพื่อการอุปโภคบริโภคเท่านั้น เนื่องจากจุดสูบน้ำของการประปาส่วนภูมิภาค สาขามหาสารคามลดต่ำลง จนต้องขุดเปิดทางน้ำให้ไหลมายังจุดสูบ ซึ่งหากสถานีสูบน้ำกว่า 60 แห่ง ยังส่งน้ำให้นาข้าว อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำผลิตประปาในเขตเมือง แต่สำหรับชาวนา มองว่า บางช่วงของลำน้ำชี หรือที่เรียกว่า วัง ยังมีน้ำมากควรมีการสำรวจและวางระบบสูบน้ำเพื่อทำนา แทนการขอให้หยุดสูบเพียงอย่างเดียว

นางสมคิด กล้าหาญ ชาวนา จ.มหาสารคาม กล่าวว่า ไม่รู้จะหาคำขอ มาขอเขายังไง ถ้าเขาไม่ให้ เราก็ต้องรอน้ำฝน ถ้าฝนไม่ตก ข้าวก็ตายแล้งไปหมด ต้องขอน้ำเขาใช้ ไม่งั้นข้าวก็ตาย

 

สำหรับมาตรการขอความร่วมมือให้งดสูบน้ำจากลำน้ำชีถูกนำมาใช้ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว กรมชลประทานขอให้งดทำนาปรังในจังหวัดพื้นที่ลุ่มน้ำชี แต่ยังพบการปลูกมากกว่า 300,000 ไร่ ต้องใช้น้ำกว่า 200 ล้านลูกบาศก์เมตร ในช่วงหน้าแล้งที่ผ่านมา

เมื่อเข้าสู่หน้าฝนแม้จะขอให้เลื่อนการเพาะปลูกข้าวนาปี แต่ชาวนาส่วนใหญ่ก็เริ่มหว่านไถ ตั้งแต่เดือน พ.ค. นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ มองว่า ในอนาคตอาจต้องกำหนดพื้นที่ปลูกพืชฤดูแล้งล่วงหน้า เพื่อกำกับดูแลการใช้น้ำให้เข้มข้นมากขึ้น

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง