คนไทยเป็นหนี้สูงอันดับ 2 ของเอเชีย

เศรษฐกิจ
2 ก.ย. 62
11:39
3,549
Logo Thai PBS
คนไทยเป็นหนี้สูงอันดับ 2 ของเอเชีย
สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานภาวะหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาสแรกของปี เพิ่มขึ้น 13 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 78.7 ของจีดีพี สูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย

วันนี้ ( 2 ก.ย.2562) นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าว เป็นอัตราเร่งให้หนี้ครัวเรือนไตรมาสแรก ของปี 2562 อยู่ที่ ร้อยละ 78.7 ของจีดีพีเพิ่มสูงสุดในรอบ 9 ไตรมาส โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ของปี 2561 คิดเป็นมูลหนี้ 13 ล้านล้านบาท ซึ่งอยู่อันดับ 11 จาก 74 ประเทศทั่วโลก และเพิ่ม​ขึ้นเป็นอันดับ 2 จาก 22 ประเทศ ในเอเชีย รองจากเกาหลีใต้ ร้อยละ 94.8 ของจีดีพี ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการบริโภคบุคคลในธนาคารพาณิชย์  ขยายตัวร้อย 11.3 ซึ่งสูงสุดในรอบ 4 ปี นับจากไตรมาส 4 ของปี 2558

 

แต่จากการออกมาตรการกำกับเพดานปล่อยสินเชื่อ เพื่อที่อยู่อาศัย ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ (LTV) และการเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อย สินเชื่อรถยนต์ ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่ชะลอตัวจากร้อยละ 9.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 7.8 เช่นเดียวกับสินเชื่อรถยนต์ ชะลอตัว จากร้อยละ 11.4 มาอยู่ ร้อยละ 10.2

ภาพรวมหนี้ด้อยคุณภาพยังคงเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นหนี้เสียจากสินเชื่อรถยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.2 และบัตรเครดิตเพิ่ม​ขึ้นร้อยละ 12.5

พร้อมประเมินแนวโน้ม หนี้ครัวเรือน ครึ่งปีหลัง สศช.คาดว่า ภาพรวมสินเชื่อบ้านอาจชะลอตัวลงและทั้งปีอาจไม่เกินร้อยละ 80 ของจีดีพี หากจี​ดีพีขยายตัวเกินร้อยละ 3 ตามเป้าหมาย แม้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกระตุ้นการจับจ่ายในประเทศ

นายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการ สศช.ยอมรับว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงย่อมเป็นอุปสรรคค่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยน​โย​บายอยู่ในระดับต่ำอาจทำให้กลุ่มเสี่ยงก่อหนี้เพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าแบงก์ชาติกำลังติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด


นอกจากนี้ สศช. ยังรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ของปี พบว่า ภาพรวมการจ้างงานลดลงร้อยละ 0.3 โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานภาคเกษตรลดลงร้อยละ 4 แต่อัตราว่างงานยังต่ำที่ร้อยละ 0.98และพบว่าภาพรวม คดีอาชญากรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.9 ส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 21.6

ทั้งนึ้ ยังมีประเด็นทางสังคมที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ปัญหาความเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวัง หลังพบยอดผู้ป่วย โรคไข้หวัดใหญ่ และไข้เลือดออก เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยพบมากในกลุ่มนักเรียนอายุ 5-14 ปี  ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่นเดียวกับ การเจ็บป่วยจากโรคซิฟิลิสในวัยรุ่น และอาการจิตเวชรุนแรงจากกาีติดสารเสพติดเพิ่มขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง