"วันนอร์" เผยร่างประมวลจริยธรรมฯ กำหนดโทษผิดจริยธรรมร้ายแรงให้ถอดจาก ส.ส.ตัดสิทธิการเมือง10ปี

การเมือง
1 พ.ย. 62
18:49
801
Logo Thai PBS
"วันนอร์" เผยร่างประมวลจริยธรรมฯ กำหนดโทษผิดจริยธรรมร้ายแรงให้ถอดจาก ส.ส.ตัดสิทธิการเมือง10ปี
ประธานคณะกรรมาธิการ ยกร่างข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรม ส.ส. และกรรมาธิการ ระบุว่า ร่างประมวลจริยธรรม ส.ส.ยึดตามรัฐธรรมนูญ ม.219 เตรียมเสนอประธานสภาฯบรรจุวาระประชุมสภาฯสัปดาห์หน้า

วันนี้ (1 พ.ย. 2562) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานคณะกรรมาธิการ ยกร่างข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรม ส.ส. และกรรมาธิการ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้พิจารณายกร่างข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมเสร็จสิ้นแล้ว ในสัปดาห์หน้าจะยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อบรรจุเข้าวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบ

ซึ่งการร่างนั้นได้หยิบยก ประกาศมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระฯ มายกร่างให้สอดคล้องกับมาตรา 219 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยย้ำว่ามีการปรับเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับการปฎิบัติหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรฐานทางจริยธรรม  

ยังคงมีกลไกของคณะกรรมการจริยธรรมของสภาผู้แทนราษฎร ที่พิจารณาคำร้องทางจริยธรรมของ ส.ส. แต่มีจำนวนคณะกรรมการจำนวน 15 คน โดยมีประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานคณะกรรมการ และมีกรรมการประกอบด้วยผู้นำฝ่ายค้าน  วิปรัฐบาล  วิปฝ่ายค้าน ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่เกิน 2 คน และมีตัวแทนสัดส่วนของพรรคการเมือง

นายวันนอร์ระบุด้วยว่า ร่างข้อบังคับทางจริยธรรมฉบับยกร่างที่ยังไม่แล้วเสร็จ ไม่สามารถบังคับใช้กับกรณีที่ นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคไทยศรีวิไลย์ในฐานะคณะกรรมาธิการการทหารของสภาผู้แทนราษฎรพร้อมอีโอดี นำสารประกอบวัตถุระเบิดไปทดสอบที่อาคารรัฐสภาเมื่อวันก่อน แต่อธิบายว่ากรณีที่ยังไม่มีคณะกรรมการจริยธรรม หากมีเรื่องร้องเรียนก็สามารถยื่นร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ในฐานะประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ


หากในอนาคตเกิดกรณีเช่นเดียวกับนายมงคลกิตติ์ วิธีปฏิบัติตามข้อบังคับประมวลจริยธรรม  สภาฯจะต้องตั้งคณะกรรมาธิการจริยธรรมจำนวน 15 คนที่มีประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานกรรมการ มีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้อง จากนั้นคณะกรรมการจริยธรรมจะเรียกประชุมและพิจารณาเรื่องร้องเรียน โดยตามร่างประมวลจริยธรรมฉบับใหม่กำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาเรื่องร้องเรียน 60 วัน

ซึ่งเมื่อพิจารณาพยานหลักฐานแล้วพบว่ามีความผิดจริยธรรมก็มีวิธีดำเนินการอยู่ 2 ระดับ ระดับแรกคือความผิดขั้นพื้นฐานหรือการผิดจริยธรรมลักษณะไม่ร้ายแรง ให้คณะกรรมการมีอำนาจที่จะลงโทษโดยการตักเตือน ตำหนิ ให้ขอโทษต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร หรือประณามให้เป็นที่ประจักษ์  โดยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการถือเป็นที่สุด และให้รายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อรับทราบ 


และเมื่อคณะกรรมการพิจารณาแล้วมีมติด้วยคะแนน 2 ใน 3 ว่า ส.ส.หรือกรรมาธิการผู้ใด ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้ส่งเรื่องให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาและเมื่อที่ประชุมสภามีมติ เห็นชอบตามที่คณะกรรมการเสนอด้วยเสียง 2 ใน 3 ให้ส่งเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. พิจารณาดำเนินตามกฏหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป หรือส่งฟ้องไปยังศาลฎีกา  ซึ่งผลในทางกฎหมายอาจทำให้ผู้นั้นสิ้นสภาพการเป็น ส.ส. และตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5-10 ปี ทั้งนี้ตัวร่างประมวลจริยธรรมฉบับดังกล่าวยังจะต้องผ่านการพิจารณาชั้นแปรญัตติของสภา ก่อนที่ที่ประชุมจะให้ความเห็นชอบประกาศบังคับใช้ต่อไป 

http://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/25act_ethic/committee_list.php

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง