แชร์ลูกโซ่ - โทษใคร

Logo Thai PBS
แชร์ลูกโซ่ - โทษใคร
คดีเท้าแชร์แม่มณี ที่ยังประเมินคนและความเสียหายไม่ได้ หลังชักชวนประชาชนมาลงทุน จนขยายเครือข่ายไปไกลเกินจินตนาการ อะไรทำให้ผู้คนหลงเชื่อและตัดสินใจ ทฤษฎีจิตวิทยา และอาชญาวิทยา สามารถอธิบายและเสนอแนวทางแก้ปัญหาได้

“เท้าแชร์แม่มณี” อีกกรณีสะท้อนความอ่อนแออ่อนล้าของผู้คน กับการไขว่คว้าสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าเป็น “ความสุข”

ยิ่งในโลกเสมือนที่มีภาพอวดทรัพย์สิน อาหารหรูหรา ชีวิตสุขสบาย ย่อมเย้ายวนผู้เสพให้รู้สึกอยากได้อยากมีบ้าง

แชร์ออนไลน์ ไม่ต่างจากแชร์ออฟไลน์ในอดีต นวัตกรรมการเงินภายใต้ผลิตภัณฑ์เดิมๆ ใช้แนวคิดสังคมวิทยา อาชญาวิทยาและจิตวิทยาเดิม ๆ

“ต้องการเป็นที่ยอมรับ”, “เงินคืออำนาจ”, “ฉันอยากรวย”

นักอาชญาวิทยา Stephen Schafer อธิบายการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม หนึ่งในปัจจัยนั้นคือถูกทำให้เชื่อศรัทธากับสิ่งที่เห็นเบื้องหน้า 

ตัวอย่างที่ปรากฎในหลาย ๆ คดีและน่าจะเทียบเคียงได้ เช่น การถ่ายภาพกับคนดัง นักการเมือง ทรัพย์สินเงินทอง ไปเที่ยวต่างประเทศ หรือการถือธนบัตรเป็นปึก ๆ

หรือ ทฤษฎีแบบแผนการดำเนินชีวิต (Lifestyle Theory), Michael Hindelang และคณะ อธิบายภูมิหลังของเหยื่อ เช่น ชอบเสี่ยงโชค อยากลงทุนน้อยแต่ได้ผลตอบแทนสูง

แน่นอนว่าอาชญากร หรือผู้ก่อเหตุเข้าใจจุดอ่อนเหล่านี้เป็นอย่างดี

เพราะเมื่อชีวิตจริง ผู้คนมากมายกำลังตรากตรำทำงาน ตื่นเช้ากลับดึก ท่ามกลางสภาพแวดล้อมย่ำแย่ การจราจรเลวร้าย ในประเทศที่ความเหลื่อมล้ำติดอันดับโลก

“อิสรภาพทางการเงิน” “เกษียณก่อนกำหนด” “ปลดหนี้” จึงเป็นความฝันที่หวังจะไปถึงได้ก่อนแก่หรือก่อนตาย 

ในภาวะเหนื่อยล้ามืดมน แล้วมีข้อเสนอผลตอบแทนสูงผ่านมา ไม่แปลกหากจะมองเป็นโอกาสพลิกนรกเพราะแม้แต่การซื้อสลาก เพื่อหวังรางวัลที่ 1 ถูกนิยามว่าเป็น “การเปิดประตูดวง” โอกาสน้อยกว่าถูกฟ้าผ่า ก็ยังดีกว่าไม่ลงมือทำอะไร

กับดัก “แก่ก่อนรวย”, การออมเงินแบบเดิมที่ให้ผลดอกน้อยลง

ขณะที่ค่าครองชีพค่ารักษาพยาบาลเพิ่มสูงรวดเร็ว ทิ้งห่างเงินรายได้แบบก้าวกระโดด ป่วยหนักครั้งเดียวแทบหมดตัว

ท่ามกลางสื่อออนไลน์ และหนังสือ Best Seller ที่เต็มไปด้วยหมวดทางลัดพิชิตความจน, แรงบันดาลใจจากนักประดิษฐ์คำสวยหรู ผู้แตกไลน์อาชีพสู่โค้ชแห่งความสำเร็จ และกอบโกยเงินได้มากกว่างานประจำเดิม ๆ

ล้วนเป็นปัจจัยกระตุ้น นำเงินเก็บทั้งชีวิต กู้หนี้ยืมสิน เทหมดหน้าตัก ฝากความหวังไว้กับมัน 

รัฐบาลเพิ่งเปิดตัวศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม หนึ่งในภารกิจคือ ปราบปรามการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ การฉ้อโกงทางออนไลน์ แม้ในอดีต จะมีคำพิพากษาผู้ต้องหาคดีเหล่านี้ ให้จำคุกเป็นพันเป็นหมื่นปี ด้วย “ต่างกรรมต่างวาระ” แต่สุดท้าย กฎหมายก็กำหนดโทษไม่เกิน 20 ปี

และมีโอกาสออกมาใช้ชีวิตสุขสบายไร้มลทิน หากซุกซ่อนเงินทองจนหลุดรอดการตรวจสอบไปได้

อาชญาวิทยาอธิบายชัดเจน เมื่อทำแล้วคุ้มย่อมลงมือ การจะปราบปรามหรือเพิ่มบทลงโทษ จึงไม่อาจแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

ขณะที่คนร่ำรวยในไทยจำนวนน้อยนิด ล้วนมีคุณสมบัติสำคัญคือ เข้าใจในธุรกิจที่ทำเป็นอย่างดี คิดรอบด้านก่อนลงทุน ค้นหาและลงมือสร้างโอกาสช่องทางใหม่ ๆ อยู่เสมอ

ที่สำคัญ แม้ล่วงเข้าวัยชราแต่ก็ไม่หยุดทำงาน ไม่มีการเกษียณตัวเองตราบใดที่ยังทำไหว

ทางออกการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ไม่ผูกขาดโอกาสและทรัพยากรไว้กับเพียงคนบางกลุ่ม จึงอาจไม่เพียงพอ

หากต้องสร้างทัศนคติ ให้ความรู้ สร้างภูมิคุ้มกันกับคนในสังคมด้วย 

 

จตุรงค์ แสงโชติกุล 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง