หักดิบ “ปลดถังขยะ 100%” จุดเริ่มแก้ขยะชุมชน

สิ่งแวดล้อม
4 ธ.ค. 62
10:22
2,270
Logo Thai PBS
หักดิบ “ปลดถังขยะ 100%” จุดเริ่มแก้ขยะชุมชน

ชุมชนหมู่ 5 ต.โนนดินแดง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ชุมชนกึ่งเมืองใหญ่ มีความซับซ้อนและหลากหลาย มีทั้งบ้านเรือนคนในท้องถิ่นจำนวนมาก บ้านเช่า ร้านอาหารร้านค้า มีโรงเรียนและหน่วยงานราชการในชุมชน ที่นี่จึงมีขยะเกิดขึ้นวันละ 690 กิโลกรัม

ถังขยะกระจายไว้ตามจุดต่างๆ ในหมู่บ้าน 96 ถัง นอกจากจะไม่ช่วยให้ชุมชนสะอาดขึ้นแล้ว กลับเต็มไปด้วยขยะหมักหมมส่งกลิ่นเหม็น มีขยะปลิวว่อนไปตามถนน สร้างทัศนียภาพที่ไม่สวยงาม ปัญหานี้เป็นจุดเริ่มต้นให้ชุมชน คิดเรื่องปลอดขยะจึงได้เข้าร่วมโครงการชุมชนปลอดขยะสู่ความยั่งยืน สะอาดบุรี ปี 2 ที่กรมส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ร่วมกับไทยพีบีเอสจัดขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“บิ๊กคลีนนิ่ง” กลยุทธ์หยุดจุดดูดขยะชุมชน

เปลี่ยน "ขยะ" เป็นสวัสดิการชุมชน ชวนลดจากต้นทาง

เปลี่ยนเมือง ! แฟลตคลองเตย ลดขยะกว่า 30% ใน 3 เดือน

“ดอนแก้ว” จับมือ 11 ชุมชน ตั้งกฎลดขยะ ตั้งเป้าปิดบ่อขยะ

 

ทำทุกทาง เพื่อลดขยะต้นทาง

นายสมาน พิมพ์พา ผู้ใหญ่บ้าน กล่าวว่า คณะกรรมการชุมชนเข้าไปสร้างการรับรู้กับคนในชุมชนก่อน ทั้งบ้านเรือนดั้งเดิม บ้านเช่า ร้านค้า สถานที่ราชการ โรงเรียน ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี

คณะทำงานของชุมชนจึงมีการประชุมร่วมกับชาวบ้าน กำหนดกติการ่วมกัน และตั้งเป้าจะคืนถังขยะให้กับเทศบาลทั้งหมด 96 ถัง เพื่อเป็นชุมชนปลอดถังขยะ 100 %

โดยมีกลุ่ม อสม.เป็นแกนหลักให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เริ่มจากการคัดแยกขยะในบ้านก่อน ด้วยวิธีการที่ไม่ได้ไปเพิ่มภาระให้มากนัก กิจกรรมแรกคือจัด Big Cleaning ทอดผ้าป่าขยะ ทำให้ได้เงินมาเป็นกองทุนเริ่มต้นจัดตั้ง “ธนาคารขยะสะสมทรัพย์”

แยกขยะหน้าบ้านเกือบ 100 เปอร์เซนต์

เมื่อชาวบ้านเริ่มคัดแยกขยะ เทศบาลได้เข้าไปทำคอกสำหรับทิ้งขยะ ที่หน้าบ้านแต่ละหลัง เพื่อแบ่งขยะเป็น 3 ชนิด ได้แก่ แก้ว พลาสติก กระป๋อง ตอนนี้ในหมู่บ้านมีถังขยะแบบนี้แล้วกว่า 160 ครัวเรือนหรือ 80% ของครัวเรือนทั้งหมด ขยะที่ถูกแยกออกมาจะนำไปขายให้ธนาคารขยะสะสมทรัพย์ ก่อนรวบรวมไปขายต่อ แล้วนำเงินกลับมาสู่ชุมชนในรูปแบบสวัสดิการให้กับสมาชิก เช่น เงินฌาปนกิจ กองทุนหมุนเวียน เป็นต้น

ขยะอินทรีย์ เช่น เศษอาหาร จะใช้ถังไรก้นฝังดินทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ และเป็นอาหารสัตว์ เช่น ไก่ หมู และไส้เดือน ส่วนขยะอันตรายจะแยกรวบรวมไว้ที่ธนาคารขยะของหมู่บ้าน ก่อนส่งต่อให้เทศบาลนำไปกำจัด นอกจากนี้ ยังนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำทำสิ่งประดิษฐ์ เช่น ทำดอกไม้ กระเป๋าถือจากซองปรับผ้านุ่ม ซองกาแฟ

“ตอนนี้ในชุมชนมีต้นแบบครัวเรือนในการจัดการขยะทุกประเภทแล้ว 11 แห่ง ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และหลายครัวเรือนก็นำไปเป็นแบบอย่างแล้ว แม้ว่าการรณรงค์กับบ้านเช่าเป็นเรื่องยาก เพราะผู้เช่ามีการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ได้รับความร่วมมือจากเจ้าของบ้านเป็นอย่างดี” ผู้ใหญ่สมาน กล่าว

 

ส่วนร้านค้าก็ให้ความร่วมมือ ในการจัดการขยะภายใต้แนวคิด “ร้านค้าปลอดโฟม ลดถุงพลาสติก” ลูกค้าที่เข้าไปซื้อสินค้า และไม่รับถุงจะได้รับ 1 แต้ม สะสมครบ 50 แต้ม สามารถแลกสินค้าในราคา 5 บาท โดยร้านค้าได้รับเงินสนับสนุนจาก ธนาคารขยะสะสมทรัพย์ ช่วยลดขยะได้อีกทาง

ส่วนร้านอาหารปรับเปลี่ยนมาเป็น “ร้านอาหารปลอดโฟม” ใครนำภาชนะมาใส่อาหาร สะสมครบ 20 ครั้ง รับฟรีอาหารตามสั่ง 1 ครั้ง คนที่จะห่อข้าวกลับบ้าน ร้านก็จะเปลี่ยนจากใช้กล่องโฟม มาเป็นกล่องชานอ้อยแทน

ขณะที่ในโรงเรียนมีเพียงเศษอาหาร ให้พนักงานนำไปทำปุ๋ยหมัก ส่วนหน่วยงานราชการที่มีผู้เข้ามาใช้บริการมากมาย ก็รณรงค์ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยลดถุง ลดแก้วพลาสติก แต่ละคนมีแก้วน้ำประจำตัวไว้ซื้อชา กาแฟ ขณะที่การให้บริการหอประชุม ให้เลิกใช้กาแฟซองเป็นกาแฟขวดที่ตักชง และเปลี่ยนอาหารว่างในห่อพลาสติกเป็นขนมชนิดที่ห่อด้วยวัสดุธรรมชาติหรือใส่จานได้แทน

 

จัดเก็บข้อมูลขยะชุมชน ตัวผลักดันสำคัญ

จุดเด่นของชุมชนนี้คือ มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จัดเก็บข้อมูลอย่างละเอียดทุกวัน โดย อสม. 1 คน จะดูแลให้คำแนะนำและเก็บข้อมูลบ้านเรือน 8-10 หลัง ซึ่งข้อมูลมีทตั้งแต่ สมาชิกในครัวเรือน จำนวนขยะ ประเภทขยะ กิจกรรมของแต่ละบ้านความเปลี่ยนแปลงของปริมาณขยะ ทำให้ชุมชนมีข้อมูลละเอียดและมองเห็นองค์ประกอบขยะมากขึ้น จนมองเห็นแนวทางการลดขยะได้ ด้วยวิธีการต่างๆ

ระยะเวลา 3 เดือน (ส.ค.-ต.ค.62) ปริมาณขยะจากเดิมวันละ 690 กิโลกรัม ลดลงเหลือวันละ 17.9 กิโลกรัม ซึ่งชุมชนก็บรรลุเป้าหมายในการปลดถังขยะออกจากชุมชน คืนให้เทศบาลได้ทั้งหมด เทศบาลเองก็ลดภาระในการจัดเก็บขยะลง จากเดิมที่ต้องเก็บขยะสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งเหลือเพียงครั้งเดียว

ปลุกจิตสำนึกไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลา

นายสมาน กล่าวว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้นๆ นั้น ไม่อาจวัดได้ว่า ชุมชนจะมีการจัดการอย่างยั่งยืนได้ หากไม่ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมรับผิดชอบ กับชุมชนตัวเอง แต่เห็นได้ว่า เมื่อเริ่มแล้ว และต่อยอดไปพัฒนาเป็นการจัดการในรูปแบบหลากหลายมากขึ้น

การทำให้ชุมชนเป็นชุมชนปลอดขยะอย่างยั่งยืน อาจต้องใช้เวลา ทั้งปลุกจิตสำนึกคน รวมถึงแผนการดำเนินงานที่เหมาะสมกับชุมชน คิดว่าไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลา

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง