ก่อน “อนาคตใหม่” เคลื่อนไหวครั้งต่อไป

Logo Thai PBS
ก่อน “อนาคตใหม่” เคลื่อนไหวครั้งต่อไป
“ของจริงเดือนหน้า” ที่นายธนาธร ส่งถึงนายกฯ ระหว่างการรวมตัวผู้สนับสนุนที่สกายวอร์ก แยกปทุมวัน เมื่อ 14 ธ.ค.สะท้อนว่าการเคลื่อนไหวนอกสภาของพรรคอนาคตใหม่ ต้องยกระดับความเข้มข้นขึ้นอีก พวกเขายังมีงานต้องทำอีกไม่น้อยเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น

บอก พล.อ.ประยุทธ์ อย่าเพิ่งกลัว นี่แค่ชิมลาง ของจริงเดือนหน้า

ช่วงหนึ่งของการปราศรัย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ทิ้งท้ายส่งสัญญาณถึงผู้มีอำนาจ ก่อนปิดกิจกรรมที่สกายวอร์กสี่แยกปทุมวัน 14 ธ.ค.2562


ประเด็นการนัดรวมตัวที่ตีกรอบไว้กว้างๆ “ต่อต้านเผด็จการ เชิดชูประชาธิปไตย” ใช้เวลา 1 ชั่วโมง ก่อนเคารพธงชาติและแยกย้ายกลับบ้าน 

 

กิจกรรมนี้เกิดขึ้นหลัง กกต.มีมติส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีพรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจากนายธนาธร 191,200,000 บาท กระทำอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง จึงมีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมาก 5 ต่อ 2 ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 93 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

มาตรา 72 ในกฎหมายฉบับเดียวกัน ระบุห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จนมีข้อถกเถียงว่าพรรคการเมืองอยู่ในสถานะ “นิติบุคคลมหาชน” ห้ามทำสิ่งที่กฎหมายไม่ได้เขียน เมื่อรายได้พรรคการเมืองถูกกำหนดไว้ และการกู้เงินไม่อยู่ในข่ายนั้น

หรือเป็น “นิติบุคคลเอกชน” ทำได้ถ้ากฎหมายไม่ได้เขียน โดย รศ.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคตีความไปในทิศทางนี้ เมื่อกฎหมายไม่ได้ห้ามกู้เงิน พรรคจึงกู้เงินได้

หากเป็นเพียงปัญหาภายในพรรค และถูกวิจารณ์ว่าเกิดจากทำงานบกพร่องกันเองแล้ว

 

“ของจริง” ที่จะได้เห็นในเดือนหน้าคืออะไร และมันจะเป็น “ของจริง” จริงหรือไม่

มวลชนวงในอาจชื่นชมการเคลื่อนไหวที่ประสบความสำเร็จ แต่ผู้เฝ้าดูอยู่วงนอก ยังมีข้อสังเกตมากมาย

เพราะ “สยามสแควร์” เป็นย่านการค้าการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ศูนย์รวมกิจกรรมทั้งสาระและบันเทิง รวมถึงระบบขนส่งสาธารณะสำคัญ เชื่อมโยงด้วยรถไฟฟ้าดึงดูดผู้คนและจำนวนไม่น้อยต้องเดินผ่าน “สกายวอร์ก” เช่นเดียวกับเยาวราช ถนนเจริญกรุง ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปเปิดงานถนนคนเดิน ต้องเดินฝ่าฝูงชนทั้งไทยและเทศ ขนาบข้างด้วยร้านอาหารชื่อดังตลอดทาง 

จุดโฟกัสอย่าง “ธนาธร - พล.อ.ประยุทธ์” จึงโดดเด่นตามภาพที่ปรากฏ หากผู้จัดงานหวังให้เป็นเช่นนั้น

ขณะที่กิจกรรมใช้ชื่อว่า “วิ่งไล่ลุง” ตามกำหนดการ 12 มกราคม 2563 ซึ่งนายธนาธร ตอบรับแล้วว่าจะร่วมด้วยแน่นอน
ไทยพีบีเอสตรวจสอบกับเว็บไซต์ www.forrunnersmag.com รวบรวมกิจกรรมวิ่งทุกรูปแบบไว้ พบว่าเฉพาะวันที่ 12 มกราคม มีผู้จัดงานวิ่งแล้วมากกว่า 50 งาน ทั่วประเทศ 

ภาพ : FB วิ่งไล่ลุง - Run Against Dictatorship

ภาพ : FB วิ่งไล่ลุง - Run Against Dictatorship

ภาพ : FB วิ่งไล่ลุง - Run Against Dictatorship

 

การจะไปแทรกซึมแล้วถ่ายภาพหวัง “เคลม” ย่อมไร้ผลในสายตาผู้เห็นต่าง

รศ.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น โพสต์เฟซบุ๊กถึงปัจจัยสำคัญหากหวังบรรลุเป้าหมายการเคลื่อนไหวการเมือง

“อะไรคือสูตรสำหรับของการลงถนน ? คนจำนวนมากต้องรู้สึกร่วมกันถึงความอยุติธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะความอยุติธรรมที่ส่งผลกระทบต่อพวกเขาโดยตรง ตอนเสื้อแดงลงถนนเมื่อ 9 ปีก่อน นั่นไม่ใช่เป็นแค่เพราะพรรคที่เขารักถูกทำร้าย แต่เป็นเพราะเขาเห็นว่า เขาขาดตัวแทนที่เป็นปากเป็นเสียงให้เขา รวมถึงสวัสดิการที่เขาเคยได้รับมันได้หายไป เขาต้องการมันกลับคืนมา เรื่องประท้วงฮ่องกงเป็นตัวอย่างที่ดี ชาวฮ่องกงประท้วงเพราะรักษาสิทธิของตัวเอง กลัวว่าเสรีภาพที่มีอยู่จะถูกปักกิ่งแย่งไปทั้งหมด เมื่อไฟไม่ลามถึงตัว ไม่มีใครยอมเสียสละอย่างแท้จริง ลงถนนชั่วโมงหนึ่งทำได้ แต่จะลงถนนเพื่อเอาชนะ เราต้องการการเสียสละมากกว่านั้น”

 

ผู้ออกตัวชัดเจนว่าไม่สนับสนุนทั้ง 2 ฝ่าย ชี้ตรงไปที่ “การสร้างความรู้สึกร่วม” ที่มีพลัง และนั่นหมายถึงการแสวงหาแนวร่วม โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง ผู้มีรายได้น้อย คนไร้สิทธิ์ไร้เสียง เกษตรกร คนชายขอบ ทั้งคนยากจน ชนชั้นกลางค่อนล่างค่อนบน หรือแม้แต่คนร่ำรวย

หากทีมงานได้วิเคราะห์จุดแข็ง, จุดอ่อน, โอกาสและภัยคุกคามไปแล้ว

“ของจริงเดือนหน้า” จึงไม่สามารถมารวมตัว พูดผ่านเครื่องขยายเสียงชั่วโมงเดียวแล้วแยกย้ายกลับได้อีก

พรรคต้องมีคำอธิบายมวลชนว่าจะทำอะไร จะดึงผู้ได้รับผลกระทบมาร่วม เพื่อจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไร

มีประสบการณ์จัดการมวลชนหรือไม่ ซึ่งเห็นตัวอย่างมาแล้วกับกรณี “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ประสบปัญหาไม่สามารถรับประกันหากเกิด “ม็อบชนม็อบ” ได้ที่สำคัญ ระบบรัฐสภาผ่านผู้แทนประชาชน ยังเป็นกลไกที่เชื่อมั่นกันอยู่หรือไม่ จะเลือกเดินถ่างสองขาไปพร้อมกัน หรือมุ่งเน้นทางหนึ่งทางใดเพื่อบรรลุเป้าหมาย

ล้วนเป็นโจทย์ที่ต้องเร่งแก้ให้กระจ่าง ก่อนคิดเคลื่อนไหวต่อไป 

 

เรื่อง : จตุรงค์ แสงโชติกุล 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง