วันนี้ (15 เม.ย.2563) นายเริงชัย คงทอง รองผู้ว่าการระบบส่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า จากผลสำรวจการปฏิบัติตามมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” โดยกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในช่วงต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนกว่าร้อยละ 50 ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว และมีแนวโน้มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานจากที่พักอาศัย (Work from Home) เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19

ประกอบกับประเทศไทยเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน สภาพอากาศมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือนเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ และตู้เย็นที่เก็บอาหารปริมาณมาก ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ค่าไฟฟ้าของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น
การไฟฟ้าฯ จึงมีวิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าตามมาตรการ 4 ป. “ปิด-ปรับ-ปลด-เปลี่ยน” เพื่อลดภาระค่าใช้ไฟฟ้าของประชาชน โดย
- ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น
- ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศเป็น 26 องศา ซึ่งการเพิ่ม 1 องศา จะช่วยประหยัดไฟฟ้าเพิ่มได้ 10% พร้อมหมั่นทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศ
- ปลดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าเมื่อเลิกใช้
- เปลี่ยนมาใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ติดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 รูปแบบใหม่ ที่มีค่าประสิทธิภาพสูงขึ้น อาทิ หลอดไฟ LED หรือ เครื่องปรับอากาศ
นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย โดยหมั่นตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน หากพบว่าชำรุดต้องซ่อมแซมทันที เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร หรืออันตรายอื่น ๆ จากกระแสไฟฟ้า

ทั้งนี้ กฟผ. MEA และ PEA ได้ร่วมกันเฝ้าติดตามสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าของประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 อย่างใกล้ชิด พร้อมกำหนดมาตรการและแผนรองรับการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด เพื่อให้ระบบไฟฟ้าของประเทศมีความมั่นคง ประชาชนมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความสำคัญ เช่น โรงพยาบาล เป็นต้น