วันนี้ (16 เม.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้สายการบินในประเทศทั้ง 8 แห่ง ได้ประชุมร่วมกันและออกเอกสารถึงนายอุตตม สาวนายน รมว.กระทรวงการคลัง สอบถามความคืบหน้ามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการสายการบินที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดไวรัส COVID -19 ต้องหยุดทำการบินเกือบ 100%
โดยเนื้อหาของเอกสาร ได้สอบถามถึงประเด็นหลังจากสายการบินในประเทศไทยทั้ง 8 สายการบิน คือไทยสมายด์ บางกอกแอร์เวย์ นกแอร์ นกสกู๊ต แอร์เอเชีย แอร์เอเชียเอ็กซ์ ไทยไลอ้อนแอร์ และไทยเวียตเจ็ต ได้ยื่นหนังสือต่อกระทรงการคลัง ถึงการขอกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) วงเงินโดยรวมประมาณ 25,000 ล้านบาท เพื่อประคองธุรกิจและรักษาสภาพการจ้างงานให้มากที่สุดของสายการบินในประเทศไทย
โดยขอสอบถามความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว อยู่ในขั้นตอนอย่างไรบ้าง รัฐบาลจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวในกรอบใด เพราะตามมาตรการการช่วยเหลือโดยมติ ครม. ที่ผ่านมานั้น ส่วนใหญ่จะเน้นการช่วยเหลือในกลุ่ม SME เป็นหลัก ยังไม่มีการกล่าวถึงการช่วยเหลือหรือมาตารการที่เหมาะสมรองรับธุรกิจสายการบิน
รวมถึงเงื่อนไขหรือรายละเอียดสำหรับวงเงินกู้ เช่น จะให้ธนาคารใดเป็นเจ้าภาพ และมีเงื่อนไขอย่างไรให้เข้าถึงวงเงินดังกล่าวได้จริง และเหมาะสมทันท่วงทีกับสถาณการ์ฉุกเฉินในปัจจุบัน เช่น สายการบินไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน และระยะเวลาอนุมัติไม่นาน

นอกจากนี้ ยังทวงถามถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอีกครั้ง เพราะธุรกิจสายการบินเป็นส่วนสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ หากวิกฤตโรคระบาดได้คลี่คลายลง เพราะจะนำนักท่องเที่ยวและเศรษฐกิจกลับมาอีกครั้งหนึ่ง การรักษาให้ทุกสายการบินในประเทศไทยยังคงอยู่ได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ
ขณะเดียวกันธุรกิจสายการบินในประเทศไทยมีพนักงาน 20,000 - 30,000 คน ซึ่งในช่วงเดือนมี.ค.-และเม.ย.เกือบทุกสายการบินได้หยุดทำการบินทุกเส้นทาง หมายความว่าทุกสายการบินไม่มีรายได้เข้ามา แต่ยังคงจ้างงานพนักงานไว้ให้มากที่สุด ดังนั้นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากรัฐบาลจึงเป็นหัวใจสำคัญต่อธุรกิจสายการบินเป็นอย่างมาก
อ่านข่าวเพิ่ม กพท.อนุมัติคำขอหยุดบินของทุกสายการบิน
8 สายการบินไหนขอวงเงินกู้เยียวยาเท่าไหร่
สำหรับสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 24,150 ล้านบาท ที่ทั้ง 8 สายการบินต้องการกู้นั้น จัดสรรให้แต่ละสายการบิน ดังนี้
- สายการบินบางกอกแอร์เวย์ วงเงิน 3,000 ล้านบาท
- ชสายการบินไทยแอร์เอเชีย วงเงิน 4,500 ล้านบาท
- สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ วงเงิน 3,000 ล้านบาท
- สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ วงเงิน 3,750 ล้านบาท
- สายการบินไทยเวียตเจ็ท วงเงิน 900 ล้านบาท
- สายการบินไทยสมายล์ วงเงิน 1,500 ล้านบาท
- สายการบินนกสกู๊ต วงเงิน 3,500 ล้านบาท
- สายการบินนกแอร์ วงเงิน 4,000 ล้านบาท
ทั้งนี้การขอกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำนั้น ขอดอกเบี้ย 2% เป็นระยะเวลา 60 เดือน เริ่มชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยในวันที่ 1 ม.ค. 2564 ขณะเดียวกัน เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤติของการแพร่ระบาดของโรคไวรัส COVID-19 ที่มีต่อสภาวะทางการเงินของสายการบินอย่างมหาศาล
ขณะนี้ สายการบินมีความจำเป็นที่ต้องขอเบิกเงินงวดแรกเป็นจำนวน 25% ของวงเงินกู้ภายใน เม.ย.นี้ เพื่อใช้ประคองธุรกิจให้ดำเนินการได้ รวมถึงรักษาสภาพการจ้างงานของพนักงานบริษัทในแต่ละสายการบินได้อย่างทันท่วงที

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เตรียมเสนอครม.เศรษฐกิจอุ้มสายการบิน
เครื่องบินถูกจอดทิ้ง ผลกระทบ COVID-19