ร้องยกเลิกการเลิกจ้างพนักงาน สกสค.ที่ไม่เป็นธรรม

สังคม
2 ก.ค. 63
21:35
1,154
Logo Thai PBS
ร้องยกเลิกการเลิกจ้างพนักงาน สกสค.ที่ไม่เป็นธรรม
สหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา พร้อมพนักงาน สกสค.กว่า300 คน ร่วมประชุมวิสามัญ พร้อมสะท้อนถึงการแก้ไขปัญหาของผู้บริหาร สกสค.ที่เลิกจ้างพนักงานทั้งหมด อ้างขาดทุนสะสม กว่า5,000ล้านบาท เป็นการแก้ไขไม่ถูกจุด

วันนี้(2ก.ค.2563) ตัวแทนสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา เปิดแถลงจุดยืนในการต่อสู้เรียกร้องการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ สกสค. ที่ถูกเลิกจ้าง 961คน มีผลวันที่ 1ส.ค.2563 และยังมีพนักงานที่รอเลิกจ้างเพราะเกษียณในเดือน ก.ย.นี้ กับกรรมการลูกจ้างตาม พรบ.คุ้มครองแรงงานอีกจำนวนเกือบร้อยคน เป็นการเลิกจ้างทั้งหมดองค์กร ทำให้เกิดข้อส่งสัยว่า องค์กรนี้จะยุติภารกิจทั้งหมด หรือองค์กรนี้จะทำภารกิจต่อไปโดยไปจ้างพนักงานใหม่


นายนิวัติชัย แจ้งไพร ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา และนายอารีย์ สืบวงศ์ ที่ปรึกษาสหภาพฯ กล่าวว่า ในวันนี้ได้เปิดระชุมวิสามัญครั้งที่1/2563 โดยรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเป็นการประชุมเพื่อขอมติจากสมาชิก แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เพื่อนำไปใช้ในการฟ้องร้องต่อศาลปกครองต่อไป


นายอารีย์ สืบวงศ์ ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานองค์การค้า ยอมรับว่าภาวะขาดทุนเริ่มต้นหลังปี 2544 ไม่มีกำไรสะสม ผู้บริหารเริ่มใช้สิทธิการกู้ไปยังสถาบันการเงิน โดยใช้ทรัพย์สินขององค์การ อย่างเช่น ที่ดิน เป็นหลักทรัพย์ในการจำนอง โดยมีการเสนอแผนการใช้เงิน และแผนการชำระหนี้ แต่สุดท้ายฝ่ายบริหารนำเงินไปใช้ผิดประเภท ซึ่งที่ผ่านมา สหภาพฯร้องเรียนผ่านไปยังหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกรมสอบสวนคดีพิเศษ และปปช. รวมถึง กระทรวงศึกษาธิการ และส่วนใหญ่เรื่องไม่คืบหน้า

 
ขณะที่การจ้างพิมพ์หนังสือภายนอก เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้องค์การมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น ตัวเลขการจ้างพิมพ์ปี 2554 อยู่ที่ 300 กว่าล้านบาท และปี 2555 ก้าวกระโดดไปอยู่ที่เกือบ 600 ล้านบาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ไม่ควรเป็นผู้รับผลกระทบจากการบริหารที่ผิดพลาด

 

ทั้งนี้ทางสหภาพแรงงานฯ ยังได้เตรียมเอกสารการดำเนินงานที่ส่อไปในทางทุจริตให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบ และตั้งข้อสังเกตว่า การเลิกจ้างพนักงานกว่า 961 คน เหลือ 74 คนนั้น ความจริงเป็นการเลิกจ้างหรือล้มกระดานทั้งองค์กร เนื่องจาก 74 คนที่เหลือ เป็นกลุ่มคนที่จะเกษียณอายุในเดือนกันยายน ปี 2563 เพื่อลดภาระการจ่ายเงินชดเชยและอีกกลุ่มสหภาพแรงงานที่ต้องใช้อำนาจศาลในการเลิกจ้าง

 

ส่วนความรู้สึกของกลุ่มพนักงานที่ทำงานมากว่า 20 ปี บางคนทำมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ มีความผูกพันธ์ และมองว่าองค์กรคือบ้าน นอกจากนี้พนักงานบางส่วนเปิดเผยว่าทางองค์กร ใช้สถานการณ์ COVID-19 มาเป็นส่วนหนึ่งในการเลิกจ้าง เพราะ สกสค.ให้หยุดทำงานทำงานที่บ้านตั้งแต่ เม.ย.-มิ.ย. 2563 เงินเดือน เม.ย. และ พ.ค. ก็ได้รับเพียง75% แต่ในเดือน มิ.ย. ทาง สกสค. จะไม่จ่ายเงินเดือน แจ้งให้ไปรับกับประกันสังคม แต่ทางประสังคมบอกว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์ว่าเป็นผู้ว่างงานหรือตกงาน ขณะที่หลายครอบครัวสะท้อนถึงภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น หนี้สินที่กู้ไว้ หลังจากสิงหาคมที่จะเลิกจ้าง ยังคิดวางแผนชีวิตไม่ทัน

 

ขณะที่นายอุดลย์ บุสสา ผู้อำนวยการของสกสค.คนใหม่ บอกว่า ความชัดเจนเรื่องการเยียวยา ทางคณะกรรมการบริหารจะเร่งประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน ขณะที่ทางฝ่ายกฎหมายขององค์การค้า บอกว่า การเลิกจ้างครั้งนี้เป็นการบอกกล่าวล่วงหน้า และอยู่ภายใต้ข้อกฎหมายแรงงานทุกประการ

 

และในวันพรุ่งนี้ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เรียกประชุมผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เพื่อหารือแนวทางการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้กับพนักงานที่ประสบปัญหาภาระค่าใช้จ่ายเป็นการเฉพาะหน้าก่อน และแผนการจ่ายเงินชดเชยต่างๆเพื่อให้พนักงานได้รับการเยียวยาอย่างครบถ้วนและเป็นธรรม

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง