แคมป์คนงานในชุมชนบ้านบวกครก ต.ท่าศาลา อ.เมืองเชียงใหม่ เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ เป็นที่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ ลาหู่ ไทใหญ่ และปกาเกอะญอ กว่า 100 ครอบครัว ที่อพยพจากบ้านเกิดบนเทือกเขาสูง เข้ามาทำงานรับจ้างใช้แรงงานในเมืองเชียงใหม่
พวกเขาสร้างกระท่อมเป็นที่พักอย่างเรียบง่าย ในแคมป์คนงานชุมชนบ้านบวกครก ต.ท่าศาลา อ.เมืองเชียงใหม่ เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ บ้านบางหลังอยู่อาศัยมารวมกันหลายครอบครัว แม้ต่างเชื้อชาติ ต่างความเชื่อ แต่สามารถปรับตัว และอยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่ต่างจากแคมป์คนงานอื่นๆ ไม่ต่ำกว่า 100 แห่ง ในเมืองเชียงใหม่
แคมป์คนงานชุมชนบ้านบวกครก
ลินดา ดวงดี และครอบครัว อพยพจากดอยวาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย มาทำงานรับจ้างในตัวเมืองเชียงใหม่ กว่า 20 ปีแล้ว แต่ปีนี้นับเป็นปีที่ยากลำบากที่สุด เพราะวิกฤต COVID-19 ทำให้สามีตกงานมากว่า 4 เดือน ที่ผ่านมาต้องอาศัยเงินเก็บ และรับแจกสิ่งของบริจาคจากผู้ใจบุญ องค์กรต่างๆ
ลินดา ดวงดี ชาวลาหู่
แม้ปัจจุบันสามีจะเริ่มมีงานทำ แต่รายได้ก็ยังน้อยมาก ข้าว ที่เป็นอาหารหลัก ยังต้องซื้อเชื่อมาจากร้านค้า คิดจะปลูกผักกินก็ทำไม่ได้ เพราะไม่มีพื้นที่
เมื่อถามว่า เพราะอะไรครอบครัวจึงไม่เดินทางกลับบ้านเกิด ลินดาบอกว่า ถึงอยากจะกลับไป แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะที่บ้านไม่มีที่ดินทำกิน และไม่อยากเพิ่มความลำบากให้แก่ญาติพี่น้อง จึงได้แต่อดทนและพยายามเก็บเงินให้ได้มากที่สุด เพื่อจะมีเงินพอซื้อที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง
ไพฑูรย์ ศิริพนาสกุล ชาวปกาเกอะญอ
ไพฑูรย์ ศิริพนาสกุล ชาวปกาเกอะญอ จากหมู่บ้านห้วยเสือเฒ่า อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เป็นผู้นำแคมป์คนงานบ้านบวกครก บอกว่า ชาวบ้านที่ตัดสินใจอพยพมาทำงานในเมืองเชียงใหม่ส่วนใหญ่ ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง รายได้หลักมาจากการขายแรงงาน เมื่อโรค COVID-19 ระบาด หลายครอบครัว จึงได้รับผลกระทบมาก แม้ล่าสุดสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น แต่การท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้น ทำให้แรงงานที่ทำงานในโรงแรมที่พัก จึงไม่มีรายได้
ชีวิตความเป็นอยู่ในแคมป์คนงานชุมชนบ้านบวกครก
การละทิ้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์พื้นที่สูง เข้ามาหาทำงานในเมือง สะท้อนการถูกจำกัดสิทธิในทรัพยากร และกลายเป็นความเสี่ยงที่จะถูกกลืนกินทางวัฒนธรรมที่ผ่านมา จึงมีความพยายามในการเสนอกฎหมาย เพื่อเติมเต็มสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง
โดยเฉพาะ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริม และอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ซึ่งหนึ่งในสาระสำคัญ คือ การคุ้มครองที่อยู่อาศัย และที่ทำกิน
นายกิตติศักดิ์ รัตนกระจ่างศรี ประธานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สาระสำคัญ ของ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริม และอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พูดถึงสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ควรจะได้รับ ซึ่งเป็นสิทธิเดิมที่ควรได้รับ โดยเฉพาะการอยู่อาศัย การถือครองที่ดิน และการใช้ทรัพยากร เพราะบางชุมชนอยู่มาเป็นเวลา 200-300 ปี ก่อนจะมีการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติภายหลัง
นอกจากนี้ยังระบุถึงการฟื้นฟูอัตลักษณ์ วิถีชีวิต รวมไปถึงหน้าที่ของรัฐที่ต้องให้การดูแล และคุ้มครอง สิทธิในการฟื้นฟูธำรงอัตลักษณ์ของตนเอง ขณะเดียวกันก็ต้องมีกลไกการทำงานในรูปแบบของสมัชชาหรือสภา ให้ผู้แทนใช้เป็นพื้นที่ในการทำงาน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ผศ.ประสิทธิ์ ลีปรีชา อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า แม้หลายฝ่ายมีความคาดหวังต่อ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริม และอนุรักษ์ วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย แต่คงไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจต้องใช้เวลาที่ยาวนาน เพราะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประชาชน กลุ่มชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อย และคนชายขอบ ที่สำคัญยังเกี่ยวพัน กับภาคราชการหลายหน่วยงาน มากไปกว่านั้น ตัวแทนในสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่า ส.ส. หรือ ส.ว. จะมีสักกี่คนที่เข้าใจเรื่องราวเหล่านี้อย่างลึกซึ้ง
แคมป์คนงานชุมชนบ้านบวกครก
ทั้งนี้ มองว่าหาก ร่าง พ.ร.บ. ถูกบังคับใช้จริง จะช่วยรับรองสิทธิ ที่อยู่อาศัย และที่ทำกิน เพราะที่ผ่านมา การไม่มีกฎหมายรองรับที่ชัดเจน ทำให้ชาวบ้านไม่มีความมั่นคงในชีวิต โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เห็นว่า การอยู่ในหมู่บ้านไร้อนาคต ไม่รู้ว่าจะถูกย้ายเมื่อไหร่ ที่ดินจะถูกประกาศเป็นเขตป่า เขตอุทยาน หรือไม่ จึงหันเข้ามามาหางานในเมือง
ฉะนั้นมีกฎหมายรับรอง ในที่ดิน ที่อาศัย ที่ทำกิน ชาวบ้านคนรุ่นใหม่ ก็ไม่ตัดสินใจลงมา เพราะอย่างน้อยในหมู่บ้าน ยังมีพ่อแม่ ญาติพี่น้อง สร้างความอบอุ่นทางใจมากกว่าการต้องเข้ามาเสี่ยงโชคอยู่ในเมือง
ชีวิตความเป็นอยู่ในแคมป์คนงานชุมชนบ้านบวกครก
อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุอีกว่า ที่ผ่านมาภาครัฐ มักสร้างภาพลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ และชนพื้นเมืองว่า เป็นผู้ทำลายป่า ทำลายความมั่นคงของชาติ ทำให้คนพื้นราบยังมีความเข้าใจในแบบเดิมๆ
ดังนั้นสื่อมวลชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม จึงต้องทำหน้าที่สร้างความเข้าใจในวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ และชนพื้นเมือง ที่มีบทบาทเป็นผู้รักษา และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อเผยแพร่สู่สังคมภายนอก รวมไปถึง ชุมชนพื้นที่สูงบางส่วน ที่กำลังหันไปมุ่งเน้นในเรื่องทุนนิยมอย่างเต็มตัว