วันนี้ (24 ก.ย.2563) นายถวิล เปลี่ยนศรี ส.ว. อภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ญัตติ โดยระบุว่า มาตรา 256 จำนวน 2 ญัตติ พรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านได้เสนอเข้ามาเหมือนกัน ส่วนอีก 4 ญัตติเป็นการแก้ไขรายมาตรการของพรรคร่วมฝ่ายค้าน เมื่อได้พิจารณาตามเหตุผล จึงไม่สามารถเห็นด้วยกับร่างฯ ทั้ง 6 ญัตติ
ไม่เห็นด้วยกับร่างฯ ทั้ง 6 ญัตติ โดยเฉพาะร่างแก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้มี ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ส่วนร่างที่แก้ไขเป็นรายมาตรา หลักการพอรับได้แต่รายละเอียดที่ให้มาก็ทำใจรับไม่ได้
นาถวิล ระบุว่า เหตุที่ไม่รับร่างแก้ไข รธน.นั้น แม้เป็นกฎหมายสูงสุด แต่ไม่ใช่แก้วสารพัดนึกที่แก้ปัญหาทุกอย่างได้ เพราะแก้ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ตกงาน ยับยั้ง COVID-19 ไม่ได้ ชี้อย่าคาดหวังว่ารัฐธรรมนูญจะแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 เคยถูกยกย่องว่าดีที่สุด แต่สุดท้ายมีการบิดเบือนใช้
พร้อมกับการมีรัฐธรรมนูญที่ดี ก็ต้องมีคนใช้ที่ดีด้วย หากรัฐธรรมนูญดี แต่คนใช้ไม่มีจิตสำนึกก็ไม่มีประโยชน์ ดังนั้น บางทีเราอาจจะต้องเปลี่ยนจากแก้รัฐธรรมนูญมาแก้นิสัยคนใช้รัฐธรรมนูญน่าจะมีความเหมาะสม
ชี้ยังไม่ถึงเวลาแก้ รธน.เสียเงิน 16,000 ล้าน
สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม โดยตั้ง ส.ส.ร.อาจไม่สอดคล้องกับเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญใน ม.255 และ ม.256 และขัดกับแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน ไม่ใช่รัฐสภา เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ผ่านประชามติประชาชน 16.8 ล้านคน การจะแก้ไขหรือรื้อโดยใช้ ส.ส.ร. อาจต้องกลับไปหาประชาชนอีกครั้ง
ส่วนการกลับไปหาประะชาชนจะต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง ทั้งถามว่าจะให้แก้หรือไม่ ไปถามประชามติอีกครั้ง จนกระทั่งร่างเสร็จต้องไปถามประชาชนอีกครั้งว่าจะรับหรือไม่ รวมใช้เงิน 16,000 ล้านบาท ซึ่งเราไม่ควรเสียเวลาและเสียเงินในช่วงนี้ และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ที่แตกแยกขัดแย้งกันเป็นจำนวนมาก ประชาชนไม่ได้เดือดร้อนกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส่วนใครจะเดือดร้อนก็ว่ากันไป
สุทินขอฟังชัดๆ แก้ รธน.จากเสียง ปชช.
ขณะที่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า กมธ.ระบุชัดเจนว่า ประชาชนต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากยังไม่ชัดให้ฟังเสียงผู้ชุมนุม อีกทั้งยังมีร่างฯ ของไอลอว์ เห็นตรงกันคือแก้มาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร. สุดท้ายการแก้รัฐธรรมนูญนั้น เพื่อแก้ปัญหาปากท้อง-ให้ต่างชาติยอมรับและเข้ามาลงทุน

คำถามว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญสิ้นเปลืองนับหมื่นล้านบาท ทั้งที่ประเทศกำลังลำบาก เมื่อรัฐบาลกู้เงินจำนวนมากและยังไม่มีทางกระจายเงิน เน้นแจกแบบไม่มีผลผลิต การทำประชามติจะหมุนเงินในระบบทุกหมู่บ้าน อย่าเสียดายเงินในการแก้รัฐธรรมนูญหรือทำประชามติ 3 รอบ เพราะคุ้มค่าแล้ว เนื่องจากเมื่อมีรัฐธรรมนูญที่ดีต่างชาติจะยอมรับและทำให้มาสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้