จับตาทิศทางเศรษฐกิจไทย หลังผลเลือกตั้งสหรัฐฯ

เศรษฐกิจ
6 พ.ย. 63
19:35
1,063
Logo Thai PBS
จับตาทิศทางเศรษฐกิจไทย หลังผลเลือกตั้งสหรัฐฯ
วิเคราะห์ทิศทางนโยบายสหรัฐอเมริกา กับผลกระทบเศรษฐกิจไทย หลัง "โจ ไบเดน" ก้าวขึ้นเป็นว่าที่ผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ คาดภาพรวมไม่เปลี่ยนมากนัก เหตุช่วง 2 ปียังต้องดูแลความมั่นคงจากจีน เชื่อสงครามการค้าจะตึงเครียดน้อยลง

วันนี้ (6 พ.ย.2563) แม้ว่านายโจ ไบเดน จะได้ครองตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนใหม่ อย่างที่หลายคนหวัง แต่เรื่องหนักใจที่น่าจะส่งผลต่อการผลักดันนโยบาย คือ คะเเนนเสียงของ 2 พรรค ใน 2 สภา ที่ใกล้เคียงกันมาก ซึ่งการบริหารประเทศด้วยเสียงปริ่มน้ำแบบนี้ อาจทำได้ยาก ขณะเดียวกัน ความเห็นคนในสหรัฐฯ ก็มีความแตกต่างกันมาก ทั้งระหว่างรัฐ ภายในรัฐ และระหว่างวัย

รศ.ปิติ ศรีแสงนาม ผอ.ศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า อาจเร็วเกินไป ที่จะประเมินผลกระทบจากการเลือกตั้งสหรัฐฯ ต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้จากงานวิจัยที่เคยทำมา เกี่ยวกับการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา พบว่าในระยะ 1-2 ปีนี้ ไม่ว่านายไบเดน หรือ นายทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้คาดว่า นโยบายในภาพรวมไม่ได้เปลี่ยนมากนัก เพราะนาทีนี้ สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับภัยความมั่นคง ซึ่งก็คือการขยายอิทธิพลของจีน ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจจีน ยังคงขยายตัว นโยบายสงครามการค้าของสหรัฐฯ ก็จะดำเนินต่อไปด้วยเช่นกัน กลุ่มลูกค้าหลักของทรัมป์ เช่นกลุ่มคนผิวขาว วัยกลางคนที่มีฐานะ ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า

ตลอด 4 ปีเขาได้รับผลประโยชน์จากการสงครามทำการค้า แต่หากไบเดน เข้ามาแล้ว ใช้นโยบายเสรีนิยมแบบเดโมแครต และยกเลิกสงครามการค้าทันที คนกลุ่มนี้จะรู้สึกเป็นปรปักษ์กับรัฐบาลของไบเดน ดังนั้นยังต้องคงนโยบายไว้ก่อนเพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกหลังการเลือกตั้ง

รองศาสตราจารย์ปิติ ระบุว่า แต่ในระยะหลัง 3-5 ปี  โลกอาจเห็นนโยบายเสรีนิยมภายใต้เงื่อนไขสหรัฐฯ ต้องเป็นคนร่างกฎกติกา ต้องเป็นกรรมการคุมกฎกติกา และเป็นผู้เล่นเอง

การค้าตึงเครียดน้อยลง

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เชื่อว่า นโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา หลังจากนี้ จะมีการพูดคุยหรือเจรจาต่างๆ มากขึ้น แต่คงไม่ได้ทิ้งนโยบายในลักษณะอเมริกาเฟิร์ส อย่างไรก็ตาม แม้การค้าจะตึงเครียดน้อยลง การใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีอาจเพิ่มขึ้น

กรณีที่มีการเจรจาการค้า ถ้าเจรจาลดภาษีระหว่างกันได้ มักจะตามมาด้วยมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เพราะประเทศต่างๆ ปกป้องผลประโยชน์ตัวเอง ความตึงเครียดในการเผชิญหน้า แต่กฎระเบียบหยุมหยิมอาจจะมี 

 

วันนี้สหรัฐฯ มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยแค่ไหน ในมิติการส่งออก สหรัฐอเมริกา ครองอันดับที่ 1 โดยตั้งแต่ม.ค.-ก.ย.ไทยส่งออกไปสหรัฐอเมริกา ประมาณ 790,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.67 ของการส่งออกไทย

ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ สหรัฐอเมริกา อยู่ลำดับที่ 6 มีจำนวน 19 โครงการ เงินลงทุนกว่า 8,000 ล้านบาท


สิ่งที่ต้องคิดหลังจากนี้ อะไรเป็นผลประโยชน์กับไทยบ้าง และถ้าจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไทยต้องใกล้ชิดกับใคร เพราะมิติระหว่างประเทศมีหลากหลาย  ดังนั้นหากเราชัดเจนว่า แต่ละมิติผลประโยชน์ไทยอยู่ตรงไหน เราก็ไม่จำเป็นต้องเลือกข้าง ซึ่งถ้าทำแบบนี้ได้ ในเวทีระหว่างประเทศเราก็จะเป็นมิตรกับทุกคน ไม่สร้างศัตรู แถมรักษาประโยชน์ของตัวเองได้ด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

รู้จัก "โจ ไบเดน" ว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ คนที่ 46

ผู้นำสหรัฐฯ โจมตีฝ่ายตรงข้ามโกงการเลือกตั้ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง