กรมอุทยานฯ ยื่น ป.ป.ช. ฟันโทษ จนท. ออก น.ส.3ก.ไม่ชอบ 251 ไร่

สิ่งแวดล้อม
9 ธ.ค. 63
13:48
1,348
Logo Thai PBS
กรมอุทยานฯ ยื่น ป.ป.ช. ฟันโทษ จนท. ออก น.ส.3ก.ไม่ชอบ 251 ไร่
กรมอุทยานฯ ยื่น ป.ป.ช. ดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ละเว้นออก น.ส.3ก. โดยมิชอบ 251 ไร่ เร่งตรวจสอบอีก 3,000 ไร่ ในเขตรักษาพันธุ์สัตวป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี

วันที่ 8 ธ.ค.2563 นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารอนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) กล่าวในการเสวนา หัวข้อ​ "ความท้าทายของกาญจนบุรีในการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ​" (การป้องกันการทุจริตออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินโดยมิชอบ และการป้องกัน การทุจริต เกี่ยวกับสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ) ในโครงการขับเคลื่อน และบูรณาการติดตามมาตรการป้องกัน การทุจริต ด้านทรัพยากรสาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2564 สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดกาญจนบุรี ณ​ โรงแรมไมด้ารีสอร์ทกาญจนบุรี ว่า ปัญหาการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรสาธารณะในเขตป่าอนุรักษ์ที่รับผิดชอบ ว่า​ "ผมจะยกตัวอย่าง 1 เรื่อง ที่ผมได้ไปสัมผัสมาสด ๆ ร้อน ๆ และจะเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคต เป็นการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ นส.3 ก ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระโดยมิชอบ

เรื่องนี้ทางหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ได้รายงานว่า เมื่อวันที่ 8​ ก.ค.​2561 จนถึงขณะนี้เป็นเวลากว่า 2 ปี ที่หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ และชุดพญาเสือ เข้าไปดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดและตรวจยึดพื้นที่ที่มี​ น.ส.3ก.​ จำนวน 4 แปลง รวมเนื้อที่ 251 ไร่ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ

ผู้ใหญ่บ้านรับรองแนวเขต

ต่อมาเมื่อวันที่​ 9​ ก.ค.2562 อัยการจังหวัดกาญจนบุรี มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหา14 คนให้คืนของกลาง รถแทรกเตอร์ รถแบคโฮ รถบรรทุก สิบล้อ รวม 12 คัน อัยการจังหวัดกาญจนบุรี ได้วินิจฉัยว่า เนื่องจากที่ดินดังกล่าวมี นส.3 ก จำนวน 4 แปลง ออกมาโดยถูกต้องตามกฎหมาย และยังไม่มีการเพิกถอน ประกอบกับมีผู้ใหญ่บ้านไประวังชี้แนวเขต และรับรองแนวเขตที่ดินให้กับเจ้าของที่ดินที่เกิดเหตุทั้ง 4 แปลง ซึ่งไม่พบว่าแปลงที่เกิดเหตุ อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระแต่อย่างใด พยานหลักฐานจึงไม่พอฟ้อง

พบหลักฐานออก น.ส.3ก ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ก่อนไปจับกุมหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และชุดพญาเสือ ได้ตรวจสอบมาก่อนแล้วว่า น.ส.3 ก จำนวน 4 แปลง ออกมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีหลักฐานการออกมาจากใบจอง นส.2 ในปี​ 2519 และในปีเดียวกันก็เปลี่ยนมาเป็น นส.3 ใบจอง เป็นหนังสือที่ทางราชการออกให้เพื่อเป็นการแสดงความยินยอมให้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินเป็นการชั่วคราว แต่ห้ามมิให้ออกใบจองที่เป็นสาธารณะสมบัติของดินใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือเป็นที่สงวนหวงห้ามของทางราชการ หรือสงวนไว้เพื่อใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือเป็นที่เขา ที่ภูเขา และห้ามออกในเขตป่าถาวรตามมติ ครม. เพราะเป็นการขัดกับระเบียบว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อประชาชน พ.ศ. 2498 ข้อ 3 (1) ที่ดินที่จะจัดประชาชนอยู่อาศัย หรือประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพต้องไม่ใช่ที่ดินตามสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือเป็นที่สงวนหวงห้าม หรือเป็นที่เขา ที่ภูเขา ขัดกับกฎกระทรวงฉบับที่ 5 ออกตามประมวลกฎหมาย พ.ศ 2497 ข้อ 8 ( 2) ห้ามออกโฉนด หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ที่เขาที่ภูเขา ที่สงวนห้ามหรือที่ดินส่วนราชการ เห็นว่าควรสงวนไว้ เพื่อใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ขัดกับระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2515 ข้อ 7 (2) และข้อ9 (1) การออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ที่ดิน ที่ดินที่ครอบครองนั้น ต้องไม่อยู่ในเขตที่ทางราชการ จำแนกไว้เป็นเขตป่าถาวร

หลักฐานชี้ออกใบจอง น.ส.2 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

การออกใบจอง น.ส.2 ในปี 2519 ดังกล่าวจึงเป็นการออกใบจอง น.ส.2 ภายหลังประกาศพระราชกฤษฎีกาเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระในปี 2508 ต่อมาถูกกันออกบางส่วนตามคำสั่งคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 64 ในปี 2515 และยังถูกกันออกเป็นบางส่วนตามประกาศพระราชกฤษฎีกา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระในปี 2520 แต่ในบริเวณที่มี นส.3ก จำนวน 4 แปลง จำนวน 250 ไร่ ดังกล่าวไม่มีการกันออกแต่อย่างใด และยังเป็นการออกใบจองภายหลังประกาศเป็นเขตป่าไม้ถาวร ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2516 ประกอบกับมีหลักฐานทางภาพถ่ายทางอากาศที่ผู้เชี่ยวชาญอ่านและแปลภาพถ่ายในบริเวณดังกล่าว ย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2496 ในบริเวณดังกล่าว เป็นป่าเบญจพรรณทั้งแปลง ปี 2512 เป็นป่าเบญจพรรณทั้งแปลง ปี 2516 บางส่วนมีร่องรอยการทำประโยชน์ ปี 2558 เป็นป่าเบญจพรรณทั้งแปลง

จากการอ่านและแปลภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลังจากผู้เชี่ยวชาญ จึงแสดงได้ว่าบริเวณดังกล่าว มิได้มีบุคคลใด ครอบครอง หรือทำประโยชน์ มาก่อน 1 ธ.8.2497 ก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ การออกใบจอง นส.2 ในปี 2519 ต่อมาเปลี่ยนมาเป็น นส.3 ในปีเดียวกัน จึงเป็นการออกใบจอง น.ส.2 โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ไร้คณะกรรมการตรวจสอบ-รับรองแนวเขต

การเปลี่ยนจาก นส.3 มาเป็น นส.3ก ในปี 2556 ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ต้องมีการตั้งคณะกรรมการหลายฝ่าย ร่วมกันตรวจสอบและรับรองแนวเขต ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 43 พ.ศ.2537 ที่ออกตามประมวลกฎหมายที่ดิน ข้อ13 โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้แต่งตั้ง แต่ในการเปลี่ยนจาก น.ส.3 มาเป็น นส.3ก ดังกล่าวไม่มีการตั้งคณะกรรมการตาม กฎกระทรวงฉบับที่ 43 พ.ศ.2537 มาร่วมตรวจสอบ รังวัดระวังชี้แนวเขตแต่อย่างใด มีแต่นายอำเภอ มอบให้ผู้ใหญ่บ้านในท้องที่คนหนึ่ง ขณะนี้ได้เป็นกำนันแล้ว มารับรองแนวเขตแทนเพียงคนเดียว

ผมไม่โทษผู้ใหญ่บ้านคนนั้นเลย ตรวจสอบพยานหลักฐานพบว่า มีอดีตหัวหน้าฯ ปี 2528 รับรองแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ห่างจากแนวเขตจริงเกือบ 1 กิโลเมตร ที่ประกาศในพระราชกฤษฎีกาปี 2508 ผู้ใหญ่บ้านคนดังกล่าวสำคัญผิดในข้อเท็จจริงไปรับรองชี้ระวังแนวเขต ว่าไม่ได้อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ

อย่างไรก็ตาม ตนเองตั้งข้อสังเกตว่า แม้หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระในปี 2528 ไปรับรองแนวเขตบริเวณดังกล่าว ไม่ได้อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ แต่ในบริเวณดังกล่าวก็ยังอยู่ในเขตป่าไม้ถาวร ที่ประกาศตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2516 ก็ต้องมีการตั้งคณะกรรมการตามกฎกระทรวงฉบับที่ 43 อยู่ดี

ขอเพิกถอน นส.3ก - จ่อดำเนินคดี จนท.เอี่ยวทุจริต

ขณะนี้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทำหนังสือไปถึงที่กรมที่ดินแล้ว ขอให้เพิกถอน นส.3ก ทั้ง 4 ฉบับ ตามมาตรา 61 ประมวลกฎหมายที่ดิน นอกจากนี้ ตนเองทำหนังสือถึงเลขาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงวันที่ 3 ธ.ค.2563 ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการทุจริตและละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ในเรื่องดังกล่าว

ผมยังได้รับแจ้งจากหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ว่ายังมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดิน 3,000 กว่าไร่ ที่ออกอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ซึ่งทาง ผอ.สบอ.3 (บ้านโป่ง) และหัวหน้าฯ จะดำเนินการตรวจสอบให้หมดทุกแปลง

ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบ น.ส.3 ก. 1 แปลง เนื้อที่ 99 ไร่ เป็นการออกเฉพาะราย ตามมาตรา 59 ทวิ ประมวลกฏหมายที่ดิน ได้ นส.3 ในปี2519 ตามประกาศคำสั่งของคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 ก.พ.2519 อ้างว่า ได้ครอบครองและทำประโยชน์ ก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ 1 ธ.ค.2497 รวมทั้งตรวจสอบและขอแผนที่ระวาง นส.3ก.ดังกล่าวจากที่ดินจังหวัดกาญจนบุรีอยู่ เพื่อดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง