ครม.ไฟเขียว ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถึง 28 ก.พ.64

การเมือง
5 ม.ค. 64
14:22
9,589
Logo Thai PBS
ครม.ไฟเขียว ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถึง 28 ก.พ.64
ครม.มีมติขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควบคุม COVID-19 ตั้งแต่ 16 ม.ค. - 28 ก.พ.2564 พร้อมเร่งจัดหาวัคซีน 2 ล้านโดสแรก วงเงิน 1,228 ล้านบาท และจัดหาให้ได้ 63 ล้านโดสในปี 2564 โดยจะฉีดให้คนไทยคนกลุ่มแรก 20,000 คนที่ทำงานภาคสนามในพื้นที่ควบคุมสูงสุด

วันนี้ (5 ม.ค.2564) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีผ่านระบบเทเลคอนเฟอร์เรนซ์ ว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ ศบค.ขยายระยะเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั่วประเทศ ตั้งแต่ 16 ม.ค. - 28 ก.พ.2564 เพราะมีความจำเป็นในการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ออกมาตรการแก้ไขสถานการณ์ COVID-19 โดยบูรณาการมาตรการกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ

วัคซีนล็อตแรก ฉีดด่านหน้าสู้ COVID-19

ส่วนความคืบหน้าจัดหาวัคซีนป้องกัน COVID-19 เร่งด่วน 2,000,000 โดสแรกจาก Sinovac ของจีน โดยต้องขึ้นทะเบียน อย.จีน และไทย ให้องค์การเภสัชกรรมดำเนินการนำเข้า จะให้กรมควบคุมโรคจัดซื้อ รวมทั้งกระจายวัคซีน วงเงิน 1,228 ล้านบาท ทั้งนี้วัคซีน 200,000 โดสแรก จะเข้ามาไทยในเดือน ก.พ.นี้ เพื่อฉีดคนไทยที่ทำงานภาคสนามในพื้นที่ควบคุมสูงสุด เช่น สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี ประมาณ 20,000 คน และกลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ 180,000 คน จากนั้นทยอยเข้ามา 800,000 โดส ในเดือน มี.ค. สำหรับฉีดเข็มที่ 2 ให้กลุ่มหนึ่ง 200,000 โดส และอีก 600,000 โดส ฉีดให้กลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมชายแดนภาคตะวันตก ภาคใต้ บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึง อสม. และกลุ่มที่มีความจำเป็นอื่น ส่วนเดือนเม.ย. อีก 1,000,000 ล้านโดส ฉีดเป็นเข็มที่ 2 ให้กลุ่มที่ได้รับวีคซีน 800,000 โดส รวมทั้งกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งประชาชน 1 คนจะได้รับ 2 โดส

จากนั้นกลางปี 2564 จะเข้ามาอีก 26000,000 โดส จากการจองซื้อของบริษัท Astrazenaca และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังอนุมัติเพิ่มอีก 35,000,000 โดส เพื่อคุ้มครองคนไทยอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด ทำให้ไทยจะมีวัคซีน รวม 63,000,000 โดส ภายใน 2564

สำหรับมาตรการในพื้นที่ควบคุมที่อาจทำให้ประชาชนสับสน ขอย้ำว่า มาตรการใดที่ออกโดย ศบค.ถือเป็นมาตรการโดยรวม และแต่ละจังหวัดที่ออกมามาตรการเพิ่มเติมจะต้องเข้มงวดกว่าที่ ศบค.ประกาศไป แต่จะอ่อนกว่าไม่ได้ เช่นกรณี 5 จังหวัดภาคตะวันออก ที่มีการเพิ่มความเข้มงวดมากกว่าพื้นที่ควบคุมอื่น ๆ

เลื่อนเข้าพัก "เที่ยวด้วยกัน" ได้

ส่วนประเด็นกระแสข่าวลือต่าง ๆ ช่วงที่ผ่านมา กรณีการเลื่อนการเข้าพักโครงการเที่ยวด้วยกัน ได้ประสานสมาคมผู้ประกอบการโรงแรมไทยให้ประชาชนสามารถเลื่อนเข้าพัก หรือยกเลิกการเข้าได้ และยืนยันว่า เงินในโครงการคนละครึ่งไม่เสียภาษี ตามที่มีกระแสข่าวในโซเชียลมีเดีย

เร่งหามาตรการเยียวยา COVID-19

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ทั้งนี้ ครม.ยังเห็นชอบวงเงินงบฯ ปี 2565 จำนวน 3.1 ล้านล้านบาท ลดลงจากงบฯปี 2564 กว่า 1.85 แสนล้านบาท โดยที่ประชุมให้ข้อสังเกตการจัดทำรายละเอียดงบประมาณที่ต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่ประชาชนกรณีผู้ถูกเลิกจ้างจาก COVID-19 สร้างศักยภาพของประเทศ และให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายเพื่อลงทุน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง