ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นพ.ทวี ยืนยันกรอบการฉีดวัคซีน COVID-19 ก.พ.นี้

สังคม
2 ก.พ. 64
16:45
451
Logo Thai PBS
นพ.ทวี ยืนยันกรอบการฉีดวัคซีน COVID-19 ก.พ.นี้
ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ยืนยันกรอบการฉีดวัคซีน COVID-19 ในไทยยังอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ แต่อาจยืดหยุ่นเล็กน้อย เน้นความปลอดภัยอันดับแรก เตรียมขอข้อมูลผลฉีดวัคซีนซิโนแวค ก่อนพิจารณาขึ้นทะเบียนแบบฉุกเฉิน

วันนี้ (2 ก.พ.2564) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกฉีดวัคซีน 100 ล้านโดส มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ขึ้นทะเบียนฉุกเฉินในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ยุโรป สหรัฐฯ มี 3 ตัว เป็นวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ โมเดอร์นา แอสตราเซเนกา ส่วนไทยได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนของแอสตราเซเนกา ตั้งแต่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา 

ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นประเทศที่เข้าร่วมในงานวิจัย เช่น อินโดนีเซีย จีน บราซิล อินเดีย ส่วนใหญ่เป็นวัคซีนที่ประเทศทางเอเซียวิจัยและผลิต

เป้าหมายหลักของวัคซีนในขณะนี้ คือ ลดเจ็บป่วย ลดอัตราการเสียชีวิต และลดการแพร่เชื้อ พร้อมยกตัวอย่างอิสราเอลฉีดวัคซีน ร้อยละ 55 พบว่า มีผู้ติดเชื้อลดลงร้อยละ 30 ส่วนไทยขณะที่การระบาดค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับอิสราเอล อีกทั้งไทยมีประชากรมากกว่า 10 เท่า มีอัตราผู้ป่วยเฉลี่ยค่อนข้างต่ำ หลักพันคนต่อวัน คาดว่าอาจจะเห็นผลช้า รวมทั้งมีมาตรการอื่น ๆ ในการป้องกันการติดเชื้อ แต่ยืนยันว่าต้องมีการฉีดวัคซีน เพื่ออุดช่องโหว่การแพร่ระบาด

ยืนยันรัฐเยียวยาความสูญเสียจากวัคซีน

ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ระบุว่า วัคซีนเป็นชีววัตถุ มีผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น อาการปวด บวม แดง ร้อน ในวัคซีนแอสตราเซเนกา ประมาณร้อยละ 70 ซึ่งเข็มแรกจะมีผลข้างเคียงมากกว่าเข็มที่ 2 แต่สามารถกินยาลดปวดแล้วหายได้ ส่วนผลข้างเคียงรุนแรง ต้องรับตัวไว้ในโรงพยาบาล หรือไข้สูงมาก เสี่ยงผลกระทบต่อสมอง มีร้อยละ 0.7 กรณีความสูญเสียถึงขั้นพิการ หรือเสียชีวิต หากผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากการฉีดวัคซีน รัฐจะต้องจ่ายเยียวยาความสูญเสียดังกล่าว

ส่วนปัจจัยที่ทำให้เกิดผลข้างเคียง เป็นปัจจัยเฉพาะตัว เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลพบว่า ผู้ที่อายุต่ำกว่า 65 ปี จะมีผลข้างเคียงอาการปวด บวม แดง ร้อน มากกว่ากลุ่มผู้ที่อายุสูงกว่า 65 ปี ขณะที่ผลข้างเคียอาการรุนแรง มีข้อมูลว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์เกิดผลข้างเคียงรุนแรง อาการช็อกและไม่รู้สึกตัว 11 คน ต่อ 1 ล้านโดส ส่วนโมเดอร์นา พบผลข้างเคียงดังกล่าว 3.7 คน ต่อ 1 ล้านโดส

อาการแพ้รุนแรงที่เกิดขึ้นในอเมริกา 95% เกิดขึ้นในผู้หญิง และเกิดขึ้น 15 นาที หลังฉีดวัคซีน เป็นที่มาว่าต้องอยู่ในหน่วยบริการอย่างน้อย 30 นาที เพื่อดูอาการ

ขอข้อมูล "ซิโนแวค"

ส่วนวัคซีนของซิโนแวค ที่จะเข้ามาไทยเป็นตัวที่ 2 ทำมาจากเชื้อตัวตายเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้มา 70-80 ปี ในวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไข้สมองอักเสบ โปลิโอชนิดฉีด พบผลข้างเคียงค่อนข้างต่ำ มั่นใจว่าผลข้างเคียงวัคซีนดังกล่าวน่าจะน้อย ซึ่งใช้แล้วในอินโดนีเซีย จีน เมียนมา แล้ว 4-5 ล้านโดส โดยจะขอข้อมูลก่อนพิจารณาขึ้นทะเบียนแบบฉุกเฉินต่อไป

คาดฉีดได้ภายใน 1 สัปดาห์หลังวัคซีนเข้าไทย

นพ.ทวี ระบุว่า ไทยอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมของระบบ เมื่อวัคซีนมาถึงไทย คาดว่าไม่เกิน 1 สัปดาห์จะสามารถฉีดได้ ยืนยันว่าขณะนี้เป็นไปตามแผนภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ แต่อาจมีความยืดหยุ่นเล็กน้อย เพราะขอวัคซีนของแอสตราเซเนกา เบื้องต้น 50,000 โดส จากโควตา 21 ล้านโดส แต่ขณะนี้ยุโรปและอังกฤษมีความขัดแย้งเรื่องการส่งวัคซีน จึงไม่แน่ใจว่าไทยจะได้รับผลกระทบหรือไม่


ทางการแพทย์เน้นความปลอดภัยเป็นอันดับแรก ส่วนจะฉีดวัคซีนหรือไม่ ต้องแล้วแต่ท่านที่จะชั่งน้ำหนัก แต่ความเสี่ยงจากการติดโรคและป่วย มีมากกว่าความเสี่ยงจากวัคซีน ถ้าผ่านขึ้นทะเบียนฉุกเฉินได้ ยืนยันว่าเป็นประโยชน์

 

นพ.ทวี ระบุขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่าต้องฉีดวัคซีนใหม่ทุกปีหรือไม่ เพราะข้อมูลเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ยกตัวอย่างในสหรัฐฯ เริ่มยุทธศาสตร์ฉีดปูพรม 1 เข็ม ดูข้อมูลจากหลายวัคซีนที่ฉีดเพียง 1 เข็ม สามารถป้องกันได้ร้อยละ 50-80 ส่วนการเกิดเชื้อกลายพันธุ์จำนวนมากในอังกฤษ บราซิล และแอฟริกาใต้ ปรากฎว่าวัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ที่มีการศึกษาในสหรัฐฯ มีเชื้อกลายพันธุ์น้อยมาก พบประสิทธิภาพวัคซีนอยู่ที่ร้อยละ 72 ส่วนในแอฟริกาใต้ ประสิทธิภาพวัคซีนตัวดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 57 สะท้อนว่าเชื้อกลายพันธุ์กำลังก่อปัญหา อาจทำให้ผลตอบสนองวัคซีนลดลง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง