วันนี้ (4 ก.พ.2564) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ระบุว่า ไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 809 คน ติดเชื้อในประเทศ 796 คน ติดเชื้อจากต่างประเทศ 13 คน รวมป่วยสะสม 22,058 คน อาการหนักใส่ท่อช่วยหายใจ 8 คน หายป่วยแล้ว 14,798 คน เสียชีวิตคงที่ 79 คน ขณะที่ทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อสะสม 104 ล้านคน เสียชีวิตเพิ่มขึ้นวันเดียวกว่า 14,000 คน รวมเสียชีวิตสะสม 2.2 ล้านคน
สำหรับ จ.สมุทรสาคร ผู้ติดเชื้อใหม่ 786 คน คิดเป็น 98.62% ของผู้ติดเชื้อใหม่ทั้งหมด รวมสะสม 13,532 คน ในจำนวนนี้ค้นหาเชิงรุกพบผู้ติดเชื้อ 11,003 คน ส่วน กทม.พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 3 คน คิดเป็น 0.05% และจังหวัดอื่นๆ พบเพิ่ม 7 คน คิดเป็น 0.88%
นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า ตัวเลขผู้ป่วยเชิงรุกยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการค้นหากลุ่มเสี่ยงวันละ 10,000 คน เสียเงินวันละ 20 ล้านบาท ดังนั้น จึงมีการประชุมว่า หากค้นแล้วเจอ ไม่ค้นก็ไม่เจอ ในอนาคตจะดำเนินการอย่างไรต่อ และแนวโน้มตัวเลขจะเป็นอย่างไร เพื่อให้ข้อมูลกับประชาชนได้อย่างชัดเจน พร้อมหารือระบบควบคุมโรคหลังการตรวจค้นพบผู้ติดเชื้อ
วันนี้เกือบทุกจังหวัดในภาคตะวันออกผู้ป่วยเป็น 0 ส่วน จ.ตากพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 5 คน และจะมีการประกาศควบคุมบางพื้นที่ต่อไป ส่วนในพื้นที่ กทม. เขตบางขุนเทียนพบผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด 151 คน มีอัตราป่วยสะสม 81.7 ต่อประชากรแสนคน
ขณะที่ กทม.มีการตรวจเชิงรุกในโรงงาน เขตภาษีเจริญ ตรวจ 11 โรงงาน พนักงาน 5,635 คน พบผู้ติดเชื้อ 26 คน บางบอน ตรวจ 24 โรงงาน พนักงาน 3,770 และตรวจในชุมชนด้วย 4,571 คน พบผู้ติดเชื้อ 8 คน บางขุนเทียน ตรวจ 25 โรงงาน 11,228 คน ติดเชื้อ 12 คน ส่วนหนองแขม ตรวจ 14 โรงงาน พนักงาน 7,788 คน ไม่พบผู้ติดเชื้อเลย
28 จังหวัดควบคุมสุงสุด เรียนออนไลน์เกือบ 90%
นพ.ทวีศิลป์ ระบุอีกว่า วช.ได้ทำแบบสำรวจความเห็นเรื่องการเรียนออนไลน์ในสถานการณ์ COVID-19 เก็บข้อมูล 77 จังหวัด จำนวน 72,626 คน เก็บตัวอย่างตั้งแต่ ม.ต้น ถึงปริญญาตรี พบว่า อุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนออนไลน์มากสุด คือ โทรศัพท์มือถือ รองลงมา คือ โน๊ตบุ๊ก
ส่วนการสอนออนไลน์ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด สูงถึง 88.06% ซึ่งถือว่าดีมากในพื้นที่การแพร่ระบาดของโรค ส่วนพื้นที่ควบคม 11 จังหวัด สอนในห้องเรียนทั้งหมด 45.29% ซึ่งมากกว่าเรียนออนไลน์
สำหรับการสอนออนไลน์ทั้งหมดไม่สลับเรียนในห้อง คิดเป็น 48.44% ซึ่งต้องขอบคุณครู อาจารย์ทุกคน เพราะทราบว่าหลายคนเหนื่อย เนื่องจากต้องใช้เทคนิคที่แปลกไปจากเดิม ส่วนการสอนออนไลน์และในห้องเรียนผสมกันอยู่ที่ 29.74% ซึ่งตัวเลขนี้ชี้ให้เห็นว่าไทยปรับตัวสู่ New Normal ได้ดี และขอให้ทุกคนปรับตัวกับวิธีการนี้ เพราะเราต้องอยู่กับโรคนี้ต่อไป
โรงเรียนกวดวิชาหลายแห่ง จ่ายเงินค่าคอร์สเป็นหลักพัน หลักหมื่น ครูเป็นจอตู้ อัดเทปสื่อการสอน ทำซ้ำ เทคนิคการเผยแพร่ไม่ได้สำคัญ แต่สำคัญที่เทคนิคการสอน เราต้องขยับเข้าสู่โลกความเป็นจริงที่ไวรัสทำให้โลกเปลี่ยนแปลง ยืนยัน การเรียนรู้ไม่ได้ถูกปิดกั้น
ทั้งนี้ ช่วงตรุษจีนปีที่แล้ว ประเทศจีนปิดเมืองทั้งหมด ส่วนในไทยแม้ปีนี้จะมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่ตรุษจีนในไทย ยืนยันว่า ไม่ต้องใช้มาตรการปิดเมืองขนาดนั้น แต่ขอฝากให้ทุกครอบครัวจับจ่ายของไหว้ต้องล้างมือ สวมหน้ากาก รวมญาติไม่รวมเชื้อ ต้องรักษาระยะห่าง และใช้อั่งเปาออนไลน์ลดเสี่ยงติดเชื้อ