ไทยพีบีเอส สัมภาษณ์ รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา ถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ปี 2564
Q : ฝ่ายค้านในสภาฯ “มวยล้มต้มคนดู” หรือไม่
A : ผมคิดว่าฝ่ายค้านในระบบรัฐสภามีหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ ถ่วงดุล กระบวนการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็เป็นวิธีการในการทำหน้าที่ดังกล่าว ถามว่าประชาชนจะเชื่อมั่นไว้วางใจได้หรือไม่ ผมคิดว่าครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง ฝ่ายค้านหรือฝ่ายนิติบัญญัติมีบทเรียนจากข้อวิพากษ์วิจารณ์ทางสังคมก่อนหน้านี้ที่บอกว่า มวยล้มต้มคนดู แรงกดดันจากครั้งนั้นมาถึงครั้งนี้
นอกจากนี้ ฝ่ายค้านคงต้องถอดบทเรียน และเชื่อว่าการอภิปรายของฝ่ายค้านรอบนี้จะต้องเตรียมข้อมูล เตรียมหลักฐาน และเหตุผล เพื่อจะให้เห็นข้อผิดพลาดต่างๆ ของรัฐบาลมากกว่าครั้งที่แล้ว เพราะถ้าทำแบบครั้งที่แล้ว ประชาชนก็จะรู้สึกผิดหวังและสิ้นศรัทธากับฝ่ายค้าน รวมถึงจะทำให้ภาพลักษณ์ของฝ่ายค้านระยะยาวเสียหายได้
ผมเชื่อมั่นว่าด้วยปัจจัยเหล่านี้ฝ่ายค้านจะทำงานหนักขึ้น เข้มข้นขึ้น เพราะเราดูได้ตั้งแต่การยื่นญัตติอภิปรายที่หนักหน่วง รุนแรง กว้างขวาง และกินพื้นที่ถึง 10 รัฐมนตรี รวมทั้งนายกรัฐมนตรี
Q : รัฐบาลต้องตอบคำถาม ให้ตรงคำถาม
A : แน่นอนว่าถ้าดูจากจำนวนเสียงในสภาฯ ฝ่ายค้านไม่สามารถล้มรัฐบาลได้อย่างแน่นอน แต่รัฐบาลก็สมควรใช้โอกาสนี้ชี้แจงปัญหาข้ออภิปรายกับประชาชน ถามว่าจะชี้แจงให้ดีอย่างไร คำตอบคือต้องชี้แจงจากหลักฐาน ตอบคำถามให้ตรงคำถาม ไม่เยิ่นเย้อ ไม่น้ำท่วมทุ่ง
ในช่วงที่ฝ่ายค้านอภิปรายทีมงานของของรัฐบาลมีเวลาในการเตรียมข้อมูลซึ่งต้องให้ตรงกับประเด็น และใช้โอกาสนี้เพื่อชี้แจงต่อสาธารณะ เพราะในทางการเมืองก็มีโอกาสที่จะพูดเกินเลยกันไปบ้าง อาจจะไม่ตรงประเด็นบ้างก่อนหน้านี้ แต่เที่ยวนี้รัฐบาลก็สามารถใช้โอกาสนี้ชี้แจงให้เป็นทางการต่อสาธารณะ เช่น เรื่องวัคซีน เพราะก่อนหน้านี้เรื่องนี้ถูกทำให้เป็นประเด็นการเมือง แต่เที่ยวนี้ผมเชื่อว่ากระทรวงสาธารณสุขจะสามารถใช้โอกาสนี้ชี้แจงเรื่องวัคซีนในทางสาธารณะกับประชาชนได้
Q : ประชาชนต้องตรวจสอบทั้ง 2 ฝ่าย
A : ส่วนการติดตามตรวจสอบจากประชาชน ผมมองว่าต้องติดตามทั้งสองฝ่าย คือ รัฐบาลและฝ่ายค้าน เพื่อให้ทั้งสองฝั่งทำงานอยู่ภายใต้หลักการ หน้าที่ ขอบเขต ผมคิดว่าช่องทางการสื่อสารของประชาชนทุกวันนี้มีกว้างขวาง สังเกตได้จากช่องทางอย่างเฟซบุ๊กหรือช่องทางออนไลน์อื่นๆ
เราเห็นเสียงของประชาชน เห็นความคาดหวังต่อฝ่ายค้านและรัฐบาล อันไหนที่ฝ่ายค้านมีหลักฐาน มีข้อมูล มีเหตุผลรองรับ ประชาชนก็น่าจะมีการให้กำลังใจฝ่ายค้าน อาจจะแชร์หรือขยายผลต่อ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าข้อมูลหลักฐานของฝ่ายค้านถูกต้อง
ขณะเดียวกันข้อมูลไหนของรัฐบาลถูกต้อง ประชาชนเห็นด้วยคล้อยตามก็ช่วยให้กำลังใจ จะทำให้เห็นว่าประชาชนมีความสัมพันธ์กันทั้งสองฝั่ง คือ ผมไม่อยากให้ประชาชนตรวจสอบเพียงแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ส่วนไหนที่ฝ่ายค้านพูดหลักฐานไม่ถูกต้องก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้เห็นว่าสิ่งนี้ไม่ถูกต้อง
เช่นเดียวกันถ้าเรื่องใดที่รัฐบาลชี้แจงไม่ถูกต้อง เช่น ปัญหาบ่อนการพนัน ยาเสพติด ถ้าชี้แจงแล้วเลื่อนลอย ประชาชนต้องวิพากษ์วิจารณ์ดัง ๆ ว่าไม่โอเคกับข้อมูลแบบนี้ เราต้องตรวจสอบเพื่อให้ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ทำงานในฐานะตัวแทนของเราอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ