ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"พิธา" จี้สภาเลือก "ประยุทธ์ หรือ ประเทศ" ปลดล็อกทางสองแพร่ง

การเมือง
19 ก.พ. 64
22:18
1,130
Logo Thai PBS
"พิธา" จี้สภาเลือก "ประยุทธ์ หรือ ประเทศ" ปลดล็อกทางสองแพร่ง
"พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจชี้นายกฯ ใช้กฎหมายแบ่งชนชั้น ปล่อยปละละเลยทุจริตกองทัพและตั๋วตำรวจ ทั้งอ้างสถาบันฯ สร้างแรงสนับสนุนทางการเมืองให้ตนเอง จี้สภาเลือกระหว่าง "ประยุทธ์" กับ "ประเทศ" เพื่อให้ไทยเดินหน้าต่อไปได้

วันนี้ (19 ก.พ.2564) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ โดยระบุว่า รัฐบาลเอื้อประโยชน์ต่อนายทุน โดยออกกฎหมาย 3 ชุด คือ 1.กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ใช้กับประชาชนทั่วไป 2.กฎหมายคนรวย ใช้กับเจ้าสัว คนใกล้ชิดรัฐบาลที่อยู่เหนือกฎหมาย นำไปสู่การเบี้ยวภาษีจนถึงทุจริตโครงการใหญ่ และ 3.กฎหมายสำหรับคนที่เห็นต่างกับรัฐบาล ใครเห็นต่างจะถูกยัดคดีใช้ระบบยุติธรรมเป็นเครื่องมือ

พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ รมว.กลาโหม ปล่อยให้มีการทุจริตตั้งแต่กางเกงใน ไปจนถึงเบี้ยเลี้ยงผี กินหิน กินดิน ไปจนถึงรถบัส เอื้อเอกชนโรงงานผลิตไฟฟ้า ทำให้คนไทยใช้ไฟแพง สมรู้ร่วมคิดช่วยบอส อยู่วิทยา พ้นคดี อีกทั้งนายกฯ ยังทราบเรื่องซื้อตัวแต่งตั้ง แต่กลับเป็นผู้ออกตั๋วตำรวจ ปล่อยให้ระบบนี้คงอยู่และขยายตัวไปเรื่อยๆ พล.อ.ประยุทธ์ แม้แต่ภาษี ค่าน้ำ ค่าไฟยังไม่จ่าย สร้างความแตกแยกในชาติจากปฏิบัติการ IO โดยใช้ทหารด้วยภาษีคนไทยมาอวยนายกฯ ทำลายผู้คัดค้านรัฐบาลและประชาชน 3 จังหวัดชายแดนใต้


รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไร้ความสามารถบริหารประเทศ ทำให้คนไทยกลายเป็นคนจนเพิ่มมากขึ้น ปล่อยปละละเลยให้เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้ง 2 รอบ ขณะนี้วัคซีนช้า เสียหายเดือนละ 2.5 แสนล้านบาท ในวันที่ท่านทำงานล่าช้า อ้างว่าไม่อยากให้คนไทยเป็นหนูทดลอง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ยืนยันว่าไทยจะเป็นชาติแรกๆ ที่ได้รับวัคซีน

เมื่อมีการระบาดของโรค ทั่วโลกฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ไปแล้ว 186 ล้านเข็ม แต่ไม่มีคนไทยได้ฉีดเลยแม้แต่ 1 เข็ม วัคซีนไม่ใช่แค่วัคซีน แต่เป็นเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่น และอนาคตของคนไทย

20.30 น. พิธา ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ การทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันฯ กับประชาชน สร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันฯ ทำให้รองประธานสภาฯ แจ้งทำความเข้าใจว่า สภาฯ มีข้อบังคับห้ามกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ หรือออกชื่อสมาชิกหรือบุคคลใด โดยไม่จำเป็น ดังนั้นขอให้อภิปรายด้วยความระมัดระวัง

แนะใช้สภาฯ เปิดพื้นที่แก้ปมปฏิรูปสถาบันฯ

พิธา หลักการประชาธิปไตย เรียกร้องให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ตรวจสอบได้ รับผิดชอบการใช้อำนาจ หลักการราชอาณาจักรเกี่ยวข้องกับสถาบันฯ เป็นประมุขของรัฐ สืบทอดสายโลหิต เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล อยากให้ประชาธิปไตยและสถาบันฯ อยู่ด้วยกัน ต้องใช้ระบบรัฐสภา บทบัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 3


ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติรย์ทรงเป็นประมุข มีหลักการสำคัญ "The king can do no wrong" หรือพระมหากษัตริย์ไม่ทรงกระทำผิด เนื่องจาก "The king can do nothing" พระมหากษัตริย์ไม่ทรงกระทำการใดเลย การกระทำทางการเมืองและบริหารต้องมี รมต.รับสนองพระบรมราชโองการและรับผิดชอบโดยตรง

แม้สถาบันฯ ไม่มีพระราชอำนาจทางการเมือง แต่ทรงพระราชอำนาจทางธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญอยู่ พร้อมนำคำอธิบายนักกฎหมาย ศ.(พิเศษ) ดร.หยุด แสงอุทัย อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม มาอธิบาย โดยนายพิธาระบุว่า เมื่อนายกฯ ได้รับพระราชกระแสรับสั่ง หรือพระราชทานคำตักเตือนหรือกำลังใจ ต้องเก็บไว้เป็นความลับ ไม่เผยแพร่ เพราะท่านเป็นผู้รับผิดชอบ

 
ตลอดเวลา 7 ปี นายกฯ กลับทำอะไรที่ไม่ควรทำ และไม่ทำสิ่งที่ควรทำ โดยใช้ ม.112 ดำเนินคดีกับนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนที่ร่วมชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันฯ ผมไม่เชื่อว่าการใช้ ม.112 อย่างพร่ำเพรื่อจะเป็นผลดีต่อสถาบันฯ

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.63 นายกฯ ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า "วันนี้ ม.112 ไม่ได้ใช้เลย เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตาไม่ให้ใช้ นี่คือสิ่งที่ท่านทรงทำให้แล้ว" แต่ 4 เดือนหลังจากนั้นกลับมีนักเรียน นักศึกษาและประชาชน 58 คนถูกกล่าวหาด้วย ม.112


เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง 2 คดี ด้วยข้อหา ม.112 และ 11.6 โดยศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตประกันตัว "อานนท์-เพนกวิน-สมยศ-หมอลำแบงค์" ทั้งที่ความผิดของเขาคือการแสดงออกทางการเมือง หลังจากนี้มีแนวโน้มที่ประชาชนอีกหลายร้อยคนจะถูกจองจำด้วย ม.112 นี่คือความย้อนแย้ง

ถ้าผมเป็นนายกฯ จะไม่ปล่อยให้มีการพูดเรื่องสถาบันฯ ไปเรื่อยๆ โดยไม่มีทางออก แต่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัยนำการพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันฯ มาไว้ในสภาฯ ให้ทุกคนเข้ามาพูดด้วยเหตุผล แล้วปัญหาทุกอย่างจะยุติ สถาบันฯ จะอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืน

จี้นายกฯ เลิกอ้างสถาบันฯ 

นายพิธา ยังระบุอีกว่า นายกฯ เคยกล่าวกับประชาชนระหว่างลงพื้นที่ จ.หนองบัวลำภู เตือนไม่ให้ไปร่วมชุมนุมที่ทำเนียบฯ ทั้งที่การชุมนุมเกิดจากการบริหารประเทศ ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ไม่สร้างเงื่อนไข ไม่ใช่เมื่อนายกฯ ทำไม่ได้แล้วเอาสถาบันฯ มาอ้าง ปิดบังความล้มเหลวและผิดพลาดของตัวเอง

พร้อมย้อนคำถวายสัตย์ฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2562 ระบุเป็นคำถวายสัตย์ที่ไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เมื่อถูกท้วงติง นายกฯ บอกว่าจะรับผิดชอบเพียงผู้เดียว พร้อมยกคำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2562 มากล่าวในสภาฯ ตั้งคำถามว่าการทำเช่นนี้คือการรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวหรือ


อย่างไรก็ตาม เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ หลังประชาชนทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน นายกฯ ต้องนำร่างรัฐธรรมนูญทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย อย่างไรก็ตามวันที่ 10 ม.ค.60 นายกฯ แถลงว่าจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2557 เปิดทางแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติไปแล้ว

นายกฯ ให้เหตุผลว่า พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้แก้ไขใหม่ในบทบัญญัติที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจ จากนั้นแต่งตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกายกร่างมาตราที่จะแก้ไขร่าง รธน.ฉบับประชามติให้เป็นไปตามข้อสังเกตพระราชทาน เมื่อแก้ไขแล้ว นายกฯ ได้ทูลเกล้าฯ ก่อนท่านจะลงพระปรมาภิไธยต่อไป

แนะ 2 หน้าที่นายกฯ ปกป้องสถาบันฯ

นายพิธา ระบุอีกว่า เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้น เมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์จะเกิดผลกระทบต่อสถาบันฯ หากมีพระราชกระแส นายกฯ ต้องเก็บเป็นความลับให้อยู่กับตัวไปจนตาย และดำเนินการไปพร้อมกับรับผิดชอบด้วยตัวเองโดยไม่อ้างสถาบันฯ พฤติกรรมแบบนี้ของนายกฯ ไม่แปลกใจเมื่อมีการชุมชนต่อต้านนายกฯ อาจกระทบสถาบันฯ

นายกฯ ที่ดีในประเทศที่มีสถาบันฯ เป็นประมุข ต้องทำหน้าที่ 2 อย่าง คือ ห้ามล้อ ไม่ให้พระราชอำนาจไปขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และเป็นกันชนไม่ให้เรื่องเสื่อมเสียกระทบไปถึงสถาบันฯ


เมื่อใดก็ตามเกิดเหตุการณ์ที่อาจจะทำให้พระราชอำนาจขยายเกินขอบเขตของรัฐธรรมนูญ นายกฯ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร ฐานะผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ฐานะผู้รับผิดชอบแทนพระมหากษัตริย์ ต้องถวายทางเลือกที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ

นายกฯ ต้องปกป้องสถาบันฯ ไม่อ้างถึงสถาบันฯ พร่ำเพรื่อ เพื่อสร้างแรงสนับสนุนทางการเมืองให้แก่ตนเอง จนอาจทำให้ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับนายกฯ ตั้งคำถามไปถึงสถาบันฯ ด้วย

ทั้งนี้ นายพิธา ยังระบุอีกว่า การอ้างถึงสถาบันฯ บ่อยครั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ อาจคิดว่าเป็นการแสดงความจงรักภักดี นี่อาจเป็นประสงค์ดี แต่กลับทำให้สถาบันฯ เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง หากนายกฯ ใช้วิธีนี้เพื่อปกป้องตนเอง เป็นเกราะกำบังเวลาถูกวิพากษ์วิจารณ์ นี่คือการกระทำอันเลวร้าย และไม่สมควรเป็นนายกฯ อีกต่อไป

เวลานี้ประเทศไทยมาถึงทางสองแพร่งที่สภาฯ ต้องเลือกระหว่าง "ประยุทธ์กับประเทศ" ถ้าเลือกประยุทธ์ เกรงว่าจะไม่มีประเทศหลงเหลือ หากเลือกประเทศ ประยุทธ์เป็นสลักแรกที่ต้องปลดออก เพื่อปลดล็อกให้ประเทศเดินต่อไปได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง