ผัดกะเพราหมูผสมใบกัญชา เป็นหนึ่งในเมนูอาหารกว่า 20 เมนู ที่ผู้ค้านำมาจำหน่าย วิธีทำใช้น้ำจากใบกัญชาแห้งที่นำมาต้ม แบ่งเป็นขวดละ 150 ซีซี ใช้ผสมต่อการผัด 1 กระทะ
โดยร้านจะมีป้ายแจ้งส่วนผสมต่อผู้บริโภคอย่างชัดเจน พร้อมมีคำแนะนำกลุ่มที่ไม่ควรบริโภค เช่น เด็ก สตรีมีครรภ์
ผู้ดูแลร้าน บอกว่า การนำใบกัญชามาปรุงอาหาร ช่วยให้รสชาติอาหารดีขึ้น มีผู้บริโภคหลายคนทดลองแล้วกลับมาซื้อซ้ำ ขณะที่หลายคนยังไม่มั่นใจ
นอกจากเมนูกะเพราหมูแล้ว ยังมีไข่เจียวใบกัญชาที่ใช้ใบกัญชาสดใส่ลงไป นอกจากนี้ยังมี ต้มจืดมะระ หมูฮ้อง ก๋วยเตี๋ยว รวมไปถึงแกงเขียวหวานเนื้อ ปลาทูต้มเค็ม ล้วนใช้ใบกัญชาเป็นส่วนผสมทั้งสิ้น
แม่ค้าร้านอาหารตามสั่ง บอกว่า อาหารที่ใช้ใบกัญชาเป็นส่วนผสม ยังขายได้ไม่มาก เนื่องจากเพิ่งทดลองได้ 3 วัน ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่รู้ ส่วนคนที่มาซื้อจะเป็นกลุ่มที่อยากทดลอง
ผู้บริโภคบางส่วน บอกว่า ไม่กังวลที่ร้านนำใบกัญชามาปรุงอาหาร เพราะเชื่อว่ามีการควบคุมให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย
ขณะที่ผู้บริหารตลาด ระบุว่า หลังจากที่รัฐบาลมีการปลดล็อก ตลาดได้ติดต่อ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตในการปลูกอย่างถูกกฎหมาย ขอความอนุเคราะห์ใบกัญชามาใช้ในการประกอบอาหาร
โดยเปิดให้ผู้ค้าที่สนใจสมัครเข้าร่วม ซึ่งจะช่วยดึงดูดลูกค้าและสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยในช่วงวิกฤตโควิด-19 มีผู้ค้าสนใจกว่า 10 ร้านค้า
ใบกัญชาที่จะนำมาปรุงอาหาร ตลาดจะเป็นคนแจกจ่ายให้กับผู้ค้า โดยดูจากเมนูอาหารและปริมาณ ส่วนใหญ่ต่อการปรุงแกง 1 หม้อ หรือ 30 ถุง จะใช้ใบกัญชาไม่เกิน 10 ใบ ขณะที่ผู้บริโภคทั่วไปสามารถบริโภคได้ไม่เกินวันละ 5-8 ใบ
ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขปลดล็อกกัญชากัญชงใช้ผลิตอาหารได้ มีผลตั้งแต่ 26 ก.พ.2564 และในวันที่ 5-7 มี.ค. จ.บุรีรัมย์ จะจัดมหกรรมกัญชากัญชง เพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องกัญชากัญชงในทุกมิติ
แท็กที่เกี่ยวข้อง: