การทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนในอังกฤษ ชี้ชัดว่า วัคซีนเพียงโดสเดียวเอาเชื้อสายพันธุ์นี้ไม่อยู่ COVID-19 สายพันธุ์ B.1.617.2 หรือ สายพันธุ์เดลตา (สายพันธุ์อินเดีย)กลายเป็นโจทย์ใหญ่ของหลายประเทศ

นอกจากนี้ยังถูกจัดให้เป็น 1 ใน 4 สายพันธุ์ ที่น่ากังวล (VOC) ขององค์การอนามัยโลกด้วย ข้อมูลชี้ให้เห็นว่าเชื้อสายพันธุ์เดลตา (สายพันธุ์อินเดีย) มีความสามารถในการแพร่เชื้อและหลบภูมิคุ้มกันมากที่สุด
ประเด็นนี้สร้างความกังวลให้อินเดียและอังกฤษ หลังจากผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นยิ่งไปกว่านั้นอังกฤษยังพบว่า เชื้อสายพันธุ์เดลตาแพร่กระจายง่ายกว่าสายพันธุ์อัลฟา ถึง 40%

กราฟการถอดรหัสพันธุกรรมรายสัปดาห์ของอังกฤษ แสดงให้เห็นว่าสายพันธุ์เดลตา เพิ่มขึ้นชัดเจน สายพันธุ์นี้ครองสัดส่วนสูงกว่า 50% ของสายพันธุ์ทั้งหมดและกลายเป็นสายพันธุ์หลักของอังกฤษ
ผลประเมินความเสี่ยงของสายพันธุ์เดลตา ที่จัดทำโดยสำนักงานสาธารณสุขอังกฤษเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พบว่า มีความสามารถในการแพร่กระจายของเชื้อมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม หลักฐานเบื้องต้นในอังกฤษและสกอตแลนด์พบว่าความเสี่ยงในการเข้าโรงพยาบาลมีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะที่การฉีดวัคซีนเพียงโดสเดียว ไม่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอที่จะรับมือกับเชื้อสายพันธุ์เดลตา

ผลการทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนไฟเซอร์และแอสตราเซเนกา จากการใช้งานจริงของสำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ แสดงให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนโดสแรกมีประสิทธิภาพป้องกันการป่วยแบบมีอาการเพียง 33% เท่านั้น โดยประสิทธิภาพของวัคซีน 2 ตัวนี้จะเพิ่มขึ้น หลังได้รับวัคซีนโดสที่ 2 ไปแล้ว ประมาณ 2 สัปดาห์
สายพันธุ์เดลตายังตกเป็นผู้ต้องสงสัยเชื่อมโยงกับการติดเชื้อราดำ หรือ มิวคอร์ไมโคซิส ในอินเดีย หลังผู้ป่วยไม่ต่ำกว่า 7,000 คน ที่หายป่วยจาก COVID-19 กลับมีอาการแทรกซ้อนจากการติดเชื้อราดำ
การแพร่กระจายของเชื้อราดำ ทำให้ผู้ป่วยหลายคนต้องเสียอวัยวะและเสียชีวิตไปแล้วกว่า 200 คน ตามปกติการติดเชื้อราดำไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย เนื่องจากร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อการฉวยโอกาสของเชื้อราสมมติฐานแรก คือ การให้ยาสเตียรอยด์แก่ผู้ป่วยมากเกินไป จนไปกดภูมิคุ้มกันจนเป็นสาเหตุของเชื้อรา

หัวหน้าแผนกหู คอ จมูกของโรงพยาบาลในมุมไบ ระบุว่า สเตียรอยด์ถูกใช้มาตั้งแต่การระบาดระลอกแรก แต่ช่วงนั้นไม่พบการติดเชื้อราดำในกลุ่มผู้ป่วย COVID-19 สูงจนน่าตกใจเหมือนการระบาดในระลอกนี้
หรือสายพันธุ์เดลตาอาจโจมตีเซลล์ตับอ่อน ที่สร้างฮอร์โมนอินซูลิน ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงภาวะดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยหลายคนมีอาการคล้ายโรคเบาหวาน เปิดโอกาสให้ร่างกายติดเชื้อราดำได้
นายอนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค มองว่า เชื้อราดำในผู้ป่วย COVID-19 อาจเกิดจากหลายองค์ประกอบรวมกัน
นอกจากนี้ ความไม่สะอาดของเครื่องมือแพทย์และออกซิเจนที่ไม่ได้มาตรฐานอาจเป็นต้นเหตุของเชื้อราดำได้ด้วย
ที่มา : Public Health England,The Telegraph
แท็กที่เกี่ยวข้อง: