วันนี้ (19 ก.ค.2564) นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี เปิดเผยถึงสถานการณ์การระบาดของโรคลัมปี สกิน ในพื้นที่จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่า ข้อมูล ณ วันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา มีสัตว์เลี้ยงป่วยสะสมทั้งหมด 3,260 ตัว สัตว์เลี้ยงหายป่วยสะสม 1,009 ตัว ตายสะสม 225 ตัว คงเหลือป่วยสะสม 2,026 ตัว
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานป่ายาง และหน่วยพิทักษ์ห้วยลึก สำรวจและสังเกตพฤติกรรม ติดตามถ่ายภาพกระทิง เพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน ในสัตว์ป่า โดยบริเวณโป่งสลัดได ถ่ายภาพเมื่อวานนี้ (18 ก.ค.) เวลา 16.46 น. พบกระทิง 46 ตัว บริเวณแปลงหญ้าทหาร ถ่ายภาพเวลา 16.20 น. พบกระทิง 67 ตัว
ลาดตระเวนไม่พบกระทิงตายเพิ่ม
นอกจากนี้ มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สายตรวจลาดตระเวนชุดที่ 1 และชุดที่ 2 ลาดตระเวนตรวจสอบพื้นที่ ไม่พบซากกระทิงตายเพิ่ม ผลจากการสำรวจพบกระทิง 2 ตัว ที่ต้องสงสัยว่ามีรอยโรคระบาดลัมปี สกิน แต่กระทิงทั้ง 2 ตัว ยังไม่แสดงอาการอ่อนแอใด ๆ สามารถกินได้ตามปกติ เบื้องต้นส่งภาพให้สัตว์แพทย์ตรวจสอบเพื่อยืนยันว่าใช่รอยโรค ลัมปี สกิน หรือไม่
ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
สัตวแพทย์จะนำไปตรวจสอบอย่างละเอียด เบื้องต้นรอยโรคอาจยังไม่ชัด หากเป็นโรคลัมปี สกิน จะต้องมีอาการอย่างอื่นประกอบและต้องมีรอยโรคมากกว่านี้ จากการประเมินสภาพทั่วไปยังกินและดำรงชีวิตได้ปกติ
ขณะที่นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ข้อมูลไว้ว่า ลัมปี สกิน ถือเป็นโรคอุบัติใหม่ในไทย พบการเกิดในปศุสัตว์และสัตว์ป่า โดยเฉพาะสัตว์กีบ เช่น วัว ควาย และมีความเสี่ยงที่จะติดสู่สัตว์ป่า ได้แก่ กระทิง วัวแดง ควายป่า รวมไปถึงเก้ง กวาง เลียงผา ช้างป่า และอื่นๆ ที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะยังไม่เคยมีข้อมูลรายงานมาก่อน โดยทั่วไปโรคนี้มีอัตราการป่วยอยู่ที่ 5-45% อัตราการตายน้อยกว่า 10%
ปศุสัตว์รอบพื้นที่ อช.กุยบุรี ป่วย 19%
ในพื้นที่การระบาดในปศุสัตว์รอบอุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีอัตราการป่วยที่ 19% อัตราการตาย 1% ซึ่งปัจจัยที่สำคัญในการจัดการเพื่อลดอัตราดังกล่าว คือ การทำวัคซีนในกลุ่มที่ไม่ป่วย และรักษาให้รอดในกลุ่มที่ป่วย ซึ่งปศุสัตว์ทำได้ดี ถือเป็นมาตรการแรกที่สำคัญในการป้องกันการติดต่อสู่สัตว์ป่า
ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
เมื่อมองในจุดที่เป็นสัตว์ป่า ซึ่งมีพื้นที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ปศุสัตว์ โอกาสสัมผัสเชื้อโดยตรงมีโอกาสสูง หรือการสัมผัสใกล้ชิดกันของสัตว์ ติดจากน้ำลาย สารคัดหลั่ง สะเก็ดแผล แต่ไม่มากเท่ากับตัวพาหะนำโรค คือ แมลงดูดเลือด เช่น เห็บ แมลงวันดูดเลือด และยุง เป็นพาหะตัวกลางในการแพร่กระจายเชื้อ ซึ่งปัจจัยนี้เองถือเป็นเรื่องยากและท้าทายในการควบคุมและป้องกัน
เร่งฉีดวัคซีนสัตว์เลี้ยง-กันพื้นที่สัตว์ป่า
กลยุทธ์ที่สำคัญในการตอบสนองต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคนี้ คือ จัดการในสัตว์ที่ควบคุมและเข้าถึงตัวได้ คือ สัตว์เลี้ยงของเกษตรกร ด้วยการทำวัคซีน และทำลายแหล่งที่อยู่ของแมลงนำโรคต่าง ๆ คือ ด้านสุขอนามัยในชุมชน หรือสถานที่เลี้ยงสัตว์ งดการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่วย ควบคู่กับการควบคุมป้องกันไม่ให้มีการใช้พื้นที่ร่วมกันระหว่างปศุสัตว์และสัตว์ป่า หน่วยหลักเป็นกรมปศุสัตว์ กรมอุท ยานฯ และหน่วยงานปกครองท้องถิ่น
การควบคุมโรคที่ตัวสัตว์ป่า เช่น การทำวัคซีน อาจมีข้อพิจารณาที่ต้องหาเหตุรองรับพอสมควร แต่การจัดทำระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อควบคุม ป้องกัน กำจัด และจำกัด โรคติดต่อระหว่างนอกป่า-ในป่า จึงเป็นสิ่งที่ทำได้เลย ซึ่งเป็นมาตรการและแนวทางป้องกันที่จะได้ดำเนินการต่อไป
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่นำชิ้นเนื้อซากกระทิงตัวผู้ อายุ 15-20 ปี น้ำหนัก 1,200-1,300 กิโลกรัม ที่นอนตายในลำห้วยบริเวณท้ายบ่อน้ำ 2 เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา ไปตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการ ผลพบว่า ติดเชื้อลัมปี สกิน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
รอผลแล็บ "กระทิงกุยบุรี" ตายจากลัมปี สกิน?
ผลแล็บชี้กระทิงกุยบุรี ติด "ลัมปี สกิน" ตาย 1 ตัว
อุทยานฯ ยกระดับคุม "ลัมปี สกิน" ประชิดป่าห้วยขาแข้ง