ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เลื่อนงานแต่ง หนีภาษีหัวหมู ปลายทางสุดท้าย "คน" ต้องออกจากป่า

เลื่อนงานแต่ง หนีภาษีหัวหมู ปลายทางสุดท้าย "คน" ต้องออกจากป่า
อ่านให้ฟัง
12:37อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
มีเรื่องเล่าในอดีต ชาวกะเหรี่ยงจะต้องจ่ายภาษี ช้าง วัว ควาย ค่าเตาไฟ ภาษีที่ดิน และภาษีหัวหมู ปกติแล้วการเลี้ยงหมูของคนกะเหรี่ยงยุคนั้นไม่ต้องเสียภาษี เมื่อใดที่ฆ่าหมู จะต้องเสียภาษีถึงตัวละ 30 บาท และเงิน 30 บาท มีค่าเท่ากับการรับจ้างทำงาน 1 ปี

การขาดเงินจำนวน 5 บาท มาจ่ายค่ารังวัดที่ดินเพื่อออกเอกสารสิทธิ ส.ค.1 เมื่อปี พ.ศ. 2500 ถือว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาวกะเหรี่ยงในยุคนั้นมาก โดยเฉพาะกับครอบครัวของ “พ่อหลวงจอนิ โอเดเชา” บิดาของ พฤ โอโดเชา ที่ต้องอาศัยทำกิน และใช้วิธีการจ่ายภาษีบำรุงท้องที่ ภบท.5 ให้กับฝ่ายปกครองแทน

ในเวลาต่อมา แม้ชาวบ้านส่วนใหญ่จะอาศัยพื้นที่ดังกล่าวทำกินมาอย่างต่อเนื่อง แต่รัฐกลับประกาศให้พื้นที่บริเวณดังกล่าว เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ เป็นพื้นที่อนุรักษ์ และยกเลิกการจัดเก็บ ภบท.5 ทำให้ชาวกะเหรี่ยงกลายเป็นคนที่อยู่แบบผิดกฎหมายจนถึงปัจจุบัน

พฤ เล่าว่า ในช่วงระยะ 5-6 ปี หลัง รัฐก็มีกฎหมายใหม่ๆ อย่าง คทช. หรือพระราชกฤษฎีกาป่าอนุรักษ์ฯ ทั้ง 2 ฉบับ คือ พ.ร.ฎ.กำหนดหลักเกณฑ์การอยู่อาศัยหรือทำกินในโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.ฎ.โครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า

มีสาระสำคัญคล้ายกันคือ ให้ชาวบ้านได้สิทธิทำกินชั่วคราวโดยมิได้มีสิทธิในที่ดินนั้นมาใช้เป็นเครื่องมือให้ชาวบ้านอยู่ได้ยากขึ้นไปอีก เนื่องจาก สค.1 บางแปลงสามารถออกได้สำเร็จ เพราะชาวบ้านมีเงินจ่ายค่ารังวัดและปัญหาที่ดินเมื่อเกือบ 70 ปีที่แล้ว ยังกลับมาส่งผลเสียต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในวันนี้อีกด้วย

“ถ้าเรายืนยันว่าเราอยู่มาก่อนเป็นป่าอนุรักษ์ ... พอเขามาสำรวจข้อมูลให้พวกเราเข้าโครงการต่างๆ ในปัจจุบัน เขาก็จะบอกเราว่า มี สค.1 มั้ย ... ถ้ามีเขาจะไม่ยุ่งเลย ... ถ้าอยู่มาก่อนจริงๆก็ต้องมี สค.1 เพราะบางคนเขายังมีเลย ... กลายเป็นว่า คนที่ได้ สค.1 มา ถูกใช้เป็นเครื่องมือเปรียบเทียบว่าพวกเราที่ไม่มี สค.1 ไม่ใช่กลุ่มที่อยู่มานานแล้วจริงๆ” พฤ อธิบายพร้อมเสียงหัวเราะต่อชะตากรรมที่เกิดขึ้น

ท้ายสุดแล้ว การให้สิทธิชั่วคราว ด้วยการตั้งเงื่อนไขให้พวกเราไม่สามารถทำการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนตามวิถีดั้งเดิมได้ ด้วยการสร้างแรงกดดันให้พวกเรายอมแพ้และทยอยออกจากป่าไปทีละนิด ... เป้าหมายสุดท้าย คือ เอาคนชาติพันธุ์ออกจากป่าให้หมด

ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง “รัฐ” กับ “คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า” ในไทย ดำเนินมาอย่างยาวนาน จนถึงยุคปัจจุบันที่ดูเหมือนว่า รัฐกำลังพยายามใช้อำนาจทางกฎหมายเข้าไปจัดการป่าในรูปแบบใหม่ผ่านการวางเงื่อนไขระยะยาว ... ดร.สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็น

หลักการใช้กฎหมายในพระราชกฤษฎีกาป่าอนุรักษ์ฯ ถูกเชื่อมโยงมาจากแนวคิดของ พ.ร.บ.อุทยาน อยู่แล้ว มาจากแนวคิดเดียวกันคือ คนอยู่กับป่าไม่ได้

“ในอดีตก็มีความพยายามใช้กำลังเจ้าหน้าที่ไปผลักดัน ขับไล่ จับกุมก็มี แต่วิธีการใหม่มันคือการทำอย่างไรให้เอาคนออกจากป่าได้อย่างนุมนวลกว่าเดิม .... ก็เลยตั้งระยะเวลาเปลี่ยนผ่านไว้ที่ 20 ปี ใช้วิธีการรับรองสิทธิให้อยู่ได้ชั่วคราว ใช้ระบบการอนุญาตให้กลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาทำกินได้เหมือนการออกใบอนุญาตตั้งโรงงาน ซึ่งจริงๆแล้วมันคือการประกาศว่ารัฐเป็นเจ้าของป่าที่ช่วยผ่อนผันให้ชาวบ้านมาอยู่ชั่วคราว”

อาจารย์สงกรานต์ ตั้งข้อสังเกตว่า การใช้กฎหมายในรูปแบบนี้ ถือเป็นระบบ การใช้กฎหมายที่อยู่ภายใต้หลัก “อำนาจนิยม” เพราะแม้กฎหมายจะผ่านมาด้วยกระบวนการที่ถูกต้อง “ชอบด้วยกฎหมาย” แต่เมื่อเป็นกฎหมายที่ทำให้หน่วยงานรัฐมีอำนาจมาก สามารถตั้งเงื่อนไขเป็นคำสั่งได้ แต่ไม่ตอบ สนองต่อการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง ก็ต้องตั้งคำถามว่า เป็นกฎหมายที่ “ไม่ชอบธรรม” ใช่หรือไม่

“20 ปี สำหรับอายุคนคนหนึ่งมันอาจจะดูว่านาน อาจเป็นเหตุผลที่ต้องตัดสิ นใจยอมรับเงื่อนไขต่าง ๆ และเข้าร่วมโครงการ ซึ่งอาจจะเกิดความพอใจก็ได้ หรือกลัวว่าจะไม่มีที่ทำกินอีกต่อไปเลยก็ได้ ... แต่สำหรับ รัฐ ช่วงเวลา 20 ปี ถือว่าไม่นาน เพราะรัฐมีอายุยืนยาวไปอีกนาน รัฐรอได้”

ในมุมของ ดร.สงกรานต์ ปรากฏการณ์นี้ ถือเป็นการต่อสู้ทางความคิดครั้งใหญ่ เพราะขณะที่รัฐกำลังอาศัยความรู้สึกของชนชั้นกลางในเมืองที่เข้าใจว่า คนในป่าคือคนทำลายป่า มาสนับสนุนให้เกิดความชอบธรรมในการใช้กฎหมาย

ขณะที่ฝ่ายที่สนับสนุนกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในป่า ก็จำเป็นต้องใช้เป็นโอกาสที่แสดงให้เห็นว่า พวกเขาไม่ได้ทำลายป่าอย่างที่ถูกกล่าวหา แถมยังเป็นคนที่ช่วยดูแลรักษาป่าเป็นอย่างดีมานานนับร้อยปีแล้วด้วยซ้ำ

“ยอมรับว่า มันเป็นการช่วงชิงการอธิบาย ที่ฝ่ายชาติพันธุ์เสียเปรียบมาตลอด เพราะเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนน้อยกว่า เสียงเบากว่า ...จึงมักพ่ายแพ้ในเกมที่ใช้หลักเสียงข้างมาก มาอ้างความชอบธรรมในการกำหนดนโยบายเสมอ ”

ดร.สงกรานต์ ทิ้งท้ายว่า บางกรณี การใช้เสียงข้างมากที่มีข้อมูลไม่มากพอ ก็อาจส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสิทธิของคนที่อยู่ในกลุ่มเสียงข้างน้อยที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับเรื่องนั้นโดยตรง

บังคับใช้ กม.ป่าอนุรักษ์ เปิดทาง “แช่แข็ง” ชาวบ้าน-ที่ดิน

เล่าฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ และคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า หากมีการบังคับใช้กฎหมายในพระราชกฤษฎีกาป่าอนุรักษ์อย่างเข้มงวด จะส่งผลกระทบใน 3 มุม คือ กระทบกับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทำไร่หมุนเวียนโดยตรงเพราะทำไม่ได้อีกต่อไป

นอกจากนี้จะกระทบต่อโอกาสในการพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ซึ่งจะทำไม่ได้เลยเล่นกันเพราะไม่สามารถพัฒนาสิ่งปลูกสร้างได้ และหลักการเดียวกันนี้ก็จะยังส่งผลกระทบกับโอกาสที่จะพัฒนาที่ดินเพื่อไปทำการเกษตรสมัยใหม่เพราะไม่สามารถทำโรงเรือนในการเพาะปลูกได้

ดังนั้นกฎหมายนี้ จะทำให้เกิดการแช่แข็งที่ดินไว้สำหรับการทำการเกษตรเชิงเดี่ยวแบบดั้งเดิมเท่านั้น และแน่นอนว่า จะส่งผลต่อเศรษฐกิจของชุมชนชาติพันธุ์อย่างรุนแรง

เล่าฟั้ง บอกว่า มันไม่ใช่การอนุรักษ์ และการออกกฎเกณฑ์ให้ทำแบบนี้ไม่สามารถช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าได้เลย แถมยังจะไปเพิ่มความขัดแย้งกับชนเผ่าพื้นเมืองในแต่ละพื้นที่อีกด้วย

“กฎหมายลักษณะนี้ไม่ส่งผลดีทั้งต่อรัฐและชุมชน และยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพื้นที่ กลายว่า ชาวบ้านก็ไม่กล้าทำไร่ในป่าแบบที่เคยทำ ปลูกพืชเชิง เดี่ยวก็ขาดทุน และเชื่อว่าฝ่ายรัฐเองก็ยังไม่กล้าเข้าไปขับไล่ชาวบ้าน ทุกอย่างจะถูกแช่แข็งไปหมด การดูแลป่าไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐหรือชาวบ้านก็ทำได้ไม่เต็มที่ จะจัดการที่ทำกินก็ยังทำไม่ได้ ... จึงจำเป็นต้องมีการพูดคุยเพื่อทบทวนกันใหม่ ... แต่ก็ยาก เพราะไม่รู้ว่าจะให้หน่วยงานไหนเป็นเจ้าภาพ” สส.เล่าฟัง ให้ความเห็น

 “เลื่อนงานแต่ง” หนี “ ภาษีหัวหมู” เรื่องเล่ากระแทกใจ

ชื่อของคนกะเหรี่ยง คือบันทึกความหวาดกลัวเจ้าหน้าที่รัฐ และทำไมการใช้กฎหมายเพื่อผลักดันให้คนออกจากป่าทางอ้อมเช่นนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ

พฤ ยกเรื่องเล่าจากพ่อของเขาให้คำตอบในเรื่องนี้

“ช่วงที่พ่อผมอายุประมาณ 15 ปี (จอนิ โอโดเชา อายุ 80 ปี – พ.ศ.2568) เราจะต้องจ่ายภาษีช้าง วัว ควาย ค่าเตาไฟ รวมทั้งภาษีที่ดินด้วย แต่ที่ถูกเล่าต่อกันมาคือ ภาษีหัวหมู

“ปกติแล้วการเลี้ยงหมูของคนกะเหรี่ยงในสมัยนั้นจะต้องไม่ต้องเสียภาษี แต่เมื่อไหร่ที่เราฆ่าหมู จะต้องเสียภาษีถึงตัวละ 30 บาท ... แต่ 30 บาทสำหรับคนกะเหรี่ยงในสมัยนั้น มันมีค่าเท่ากับการรับจ้างทำงานเป็นเวลา 1 ปีและช่วงเวลาที่จะต้องฆ่าหมูได้อย่างเปิดเผย คือ การจัดงานแต่งงาน

ดังนั้นบ้านไหนที่แต่งงานก็จะกลัวถูกเก็บภาษีหัวหมู เพราะถ้าไม่จ่ายภาษีก็จะต้องถูกจับไปทำงาน เสมือนถูกลงโทษแทนการจ่ายค่าปรับ ซึ่งสำหรับคนกะ เหรี่ยงยุคนั้นจะมีความเชื่อว่า เป็นมลทินอย่างมาก

และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันแต่งงาน จะถูกนำไปตั้งเป็นชื่อลูกคนแรกของครอบครัวเสมอ ชื่อของพวกเขา จึงเป็นเหมือนสมุดบันทึกที่บ่งบอกว่า เกิดอะไรขึ้นในวันแต่งงานของพ่อกับแม่

ตัวอย่างชื่อคนที่ 1 ชื่อว่า ... ปอ แปล๊ะ ฮโย

ปอ แปลว่า พ่อ ... แปล๊ะ แปลว่า หลีก ... ส่วน ฮโย เป็นคำที่คนปกาเกอะ ญอใช้เรียกคนเมือง คนโยนก คนที่พูดภาษาเมือง ซึ่งส่วนใหญ่จะหมายถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ดังนั้น ปอ แปละ ฮโย คือ พ่อหลีกเจ้าหน้าที่ ... เป็นเหตุการณ์ในวันแต่งงาน”

ตัวอย่างที่ 2 ชื่อว่า ปอ ทปลี ฮโย ... แปลว่า พ่อ กลัว เจ้าหน้าที่

ตัวอย่างที่ 3 ชื่อว่า ปอ จิ ฮโย ... แปลว่า พ่อ วิ่งหนี เจ้าหน้าที่

พฤ เล่าว่า ชื่อแรก ปอแปล๊ะฮโย มาจากเหตุการณ์ที่ชาวบ้านในหมู่บ้านหนึ่งกำลังจะจัดงานแต่งงานซึ่งต้องมีการฆ่าหมู แต่ระหว่างนั้นมีชาวบ้านที่เพิ่งกลับขึ้นมาบนดอย รีบมาเล่าให้ฟังว่า เขาเห็นเจ้าหน้าที่กำลังพักแรมระหว่างขึ้นดอยมาเก็บภาษี เมื่อเจ้าของงานแต่งทราบเรื่อง ก็กลัวว่าอาจต้องถูกเก็บภาษีหัวหมู 30 บาท เขาก็เลยต้องยอมเลื่อนงานแต่งงานออกไปก่อน ทั้งที่ดูฤกษ์ดูยามไว้แล้ว

ลูกคนแรกของเขา จึงได้ฉายาชื่อ ปอแปล๊ะฮโย แปลว่า พ่อของนายหลีกทางให้เจ้าหน้าที่...ก็ขนาดจะแต่งงาน ยังต้องยอมเลื่อนวันเพราะกลัวเจ้าหน้าที่มาเก็บภาษีหัวหมู บางงานที่ไม่รู้ล่วงหน้า เลื่อนไม่ทัน ชาวบ้านก็ต้องแบกหัวหมู แบกเหล้าวิ่งเอาไปแอบเพื่อไม่ให้เสียภาษี

แล้วถ้าเจ้าหน้าที่รัฐ มาเดินสำรวจ มาบอกให้ลงชื่อเข้าร่วมโครงการ มาบอกว่าถ้าไม่ลงชื่อจะไม่ได้สิทธิทำกินอีกต่อไป ... คนกะเหรี่ยง คนชาติพันธุ์ จะทำอย่างไร

จึงเป็นทั้งคำถามและข้อเรียกร้องทิ้งท้ายของ “พฤ” ที่หวังจะช่วยทำให้พวกเขาได้รับความยุติธรรมมากขึ้น

รายงานโดย : สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา สื่อมวลชนอิสระ

อ่านข่าว : คดีสูญหาย (พริก) "กะเหรี่ยง" ชำแหละวิถีคน "หนองหญ้าปล้อง"

ชีวิตคนในป่าถูกกฎหมาย "ขับไล่" Last Karen (Life) ร้องขอ หลบหนี