วันนี้ (13 ส.ค.2564) นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการแถลงสถานการณ์ COVID-19 ประจำวันถึงการบริหารวัคซีนและผลข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีน โดย ระบุว่า วัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคมา จำนวน 1.5 ล้านโดส นโยบายการบริหารจัดการอย่างโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ โดยวัคซีนทั้งหมดจำนวน 1,503,450 โดส ไม่มีการฉีดให้วีไอพี หากมีข้อสงสัยสามารถรายงานแจ้งเข้ามาเพื่อให้ตรวจสอบต่อไป
ทั้งนี้ วัคซีนไฟเซอร์จำนวน 1.5 ล้านโดส สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่มีความเสี่ยงที่จะสัมผัสผู้ป่วย จำนวน 700,000 โดส โดยได้จัดสรรลงไปในพื้นที่จังหวัดที่มีการระบาด 645,000 โดส และศึกษาวิจัย 5,000 โดสและกลุ่มที่ให้กับประชาชที่กระทรวงการต่างประเทศดูแลอีก 150,000 โดส
ในส่วนการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 700,000 โดส สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ใน 77 จังหวัด ได้จัดส่งทั้งหมด 2 รอบ รอบแรก จำนวน 442,800 โดส จัดส่งแล้วในช่วงวันที่ 4 - 5 ส.ค.2564 รอบที่ 2 จำนวน 257,200 โดส เริ่มทยอยส่งแล้วในวันที่ 8 ส.ค.2564 เป็นและคาดว่าจะถึงพื้นที่ในวันที่ 14 ส.ค.2564
ทั้งนี้ มีการติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ขณะที่บุคลากรที่มีความเสี่ยงแต่ยังไม่มีรายชื่อที่จะได้รับการจัดสรรวัคซีน สามารถแจ้งรายชื่อต่อผู้บริหารเพื่อพิจารณาว่าเข้าตามหลักเกณ์หรือไม่ และส่งรายชื่อเข้ามาได้การทยอยส่งเป็นประโยชน์ในแง่ของการจัดเก็บการดูแล อย่างถูกต้อง
นพ.เฉวตสรร ยังกล่าวว่า ขณะที่การจัดสรรวัคซีนให้กับกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มโรคเสี่ยงและหญิงตั้งครรภ์ มีการจัดส่งวัคซีนไปแล้ว 328,880 โดสในพื้นที่ 13 จังหวัด โดยในส่วนที่เหลือจะจัดส่งในช่วงปลายเดือนนี้
การแยกส่งจะเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการ เนื่องจากวัคซีนที่ส่งไปในกลุ่มเสี่ยงโดยเมื่อฉีดเข็มแรก และจะฉีดเข็มต่อไปในช่วง 3 สัปดาห์ต่อไป ดังนั้นหากส่งวัคซีนไปล็อตเดียวกัน และเก็บในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิปกติจะสามารถจัดเก็บได้ 1 เดือนและอาจเสื่อมสภาพได้
ขณะที่ การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในคนต่างชาติหรือผู้ที่มีความจำเป็นจะต้องเดินทางไปต่างประเทศ โดยมีการฉีดไปแล้วซึ่งรวมในช่วงแรกก่อนที่จะมีการรับบริจาควัคซีนไฟเซอร์ด้วย โดยชาวต่างชาติที่อยู่ในไทยฉีดวัคซีนไปแล้ว 280,075 หรือคิดเป็นร้อยละ 5.72 คนของชาวต่างชาติที่อยู่ในไทย และรับวัคซีนครบ 2 เข็ม จำนวน 74,587 คน ขณะที่ผู้สูงอายุ จำนวน 20,903 คน
ชาวเมียนมาในไทยได้รับวัคซีนมากสุด 1.4 แสนคน
จำแนกเป็นชาวต่างชาติสัญชาติเมียนมาที่มาทำงานในไทยได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วราว 140,000 คน รองลงมาคือ จีน จำนวน 37,000 คน ซึ่งมีส่วนของวัคซีนที่ทางการจีนได้บริจาคมาด้วย ถัดมาคือ กัมพูชา ลาว ญี่ปุ่น
ขณะที่การฉีดวัคซีนให้นักเรียนไทยที่ต้องเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ขณะนี้ฉีดไปแล้วจำนวน 2,878 คน เนื่องจากมีกรอบเวลาในการเดินทาง โดยนักเรียนที่จะต้องเดินทางไปศึกษาต่อต้องลงทะเบียนเพื่อยื่นความประสงค์ในการรับวัคซีน กรอกข้อมูล จากนั้นเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบถายใน 3-5 วันและแจ้งผลกลับไป
ฉีดวัคซีนแล้ว 22 ล้านโดส
ขณะที่ผลการฉีดวัคซีน ขณะนี้ฉีดวัคซีนสะสมทั้งสิ้น 22,508,659 โดส จำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 17,239,539 ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 4,855,000 คน ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 จำนวน 414,066 คน (ข้อมูล วันที่ 12 ส.ค.2564 ) และเมื่อจำแนกตามยี่ห้อวัคซีน
วัคซีนซิโนแวค จำนวน 10,794,083 คน วัคซีนแอสตราเซเนกา จำนวน 9,685,262 โดส วัคซีนซิโนฟาร์ม 1,742,610 โดส และวัคซีนไฟเซอร์ 286,704 โดส
ขณะที่อาการไม่พึงประสงค์ ข้อมูล ณ วันที่ 8 ส.ค.2564 จากยอดฉีดสะสมราว 20 ,669,780 โดส
วัคซีนซิโนแวคฉีดไปจำนวน 10 ล้านโดส พบรายงาน 2,258 เหตุการณ์ คิดเป็น 22 เหตุการณ์ต่อ 100,000 โดส อาการแพ้รุนแรง 22 เหตุการณ์ คิดเป็น 0.2 ต่อ 100,000 โดส
วัคซีนซิโนแวคฉีดไปจำนวน 9.06 ล้านโดส พบรายงาน 2,606 เหตุการณ์ แพ้รุนแรง 2 เหตุการณ์ คิดเป็น 0.02 ต่อ 100,000 โดส ซึ่งมีการกระตุ้นให้เกร็ดเลือดต่ำและเกิดลิ่มเลือด 2 คน ซึ่งได้รับการดูแลและหายเป็นปกติ
วัคซีนซิโนฟาร์ม พบรายงาน กรณีร้ายแรง 90 เหตุการณ์ คิดเป็น 6.10 ต่อ 100,000 โดส ขณะที่วัคซีนไฟเซอร์เพิ่งเริ่มฉีดไม่มีการรายงานเข้ามา 278 คน เสียชีวิตพบไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน
278 เสียชีวิตไม่เกี่ยวกับวัคซีน
ขณะที่การเสียชีวิตหลังได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 มีรายงาน 334 คน สรุปแล้ว 278 คน ทุกกรณีไม่มีสาเหตุเกี่ยวกับวัคซีนแต่อย่างใด ขณะที่จำนวนที่เหลืออยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลและพิจารณาผลชันสูตรโดยละเอียดต่อไป
เร่งตรวจสอบ กรณีบุคลากร จ.พิจิตร เสียชีวิต
กรณีที่เป็นข่าวบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 3 ซึ่งอยู่ในโรงพยาบาลเสริมสุขภาพตำบลบางคล้า จ.พิจิตร เพศชาย อายุ 44 ปีหลังการฉีดเมื่อวันที่ 10 พบว่า เสียชีวิต ในวันที่ 11 ส.ค. ขอแสดงความเสียใจต่อเจ้าหน้าที่ดังกล่าวด้วย ทั้งนี้รายละเอียดการชันสูตรและรวบจะนำเข้าคณะกรรมการคณะผู้เชี่ยวชาญ เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน COVID-19 ต่อไป และจะนำมารายงานต่อไป