วันนี้ (17 ส.ค.2564) พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ โฆษกกองทัพบก พร้อมด้วย พล.ต.ธำรงค์โรจน์ เต็มอุดม ผอ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร และ พ.ท.แบรนดอน แมคคาร์เธอร์ รอง ผอ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร ฝ่ายสหรัฐฯ ร่วมแถลงข้อเท็จจริงกรณีมีการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร

โดยกองทัพบกได้ตรวจพบว่า มีการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จในโซเชียลมีเดีย จากบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์หนึ่งมีการตั้งข้อสังเกตและเชื่อมโยงว่า สถาบันวิจัยวิทยาศาสต์การแพทย์ทหาร หรือ สวพท. อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาด COVID ในไทย
พล.ท.สันติพงศ์ ระบุว่า เป็นข้อกล่าวหาหรือสมมติฐานที่ร้ายแรงมาก และขอชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง พร้อมทั้งได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว สำหรับ สวพท. หรือ AFRIMS เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมแพทย์ทหารบก ก่อตั้งในปี 2501 จากความร่วมมือระหว่างกระทรวงกลาโหมของไทย และกระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา โดยทำงานวิจัยร่วมกันในการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อในประเทศไทยและภูมิภาคแถบนี้อย่างต่อเนื่องมากว่า 60 ปี

นอกจากนี้ยังเป็นหน่วยเครือข่ายความร่วมมือการวิจัยโรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งแต่ปี 2548 และได้มีการศึกษาวิจัยโรคเขตร้อน โรคระบาด โรคติดเชื้อ
ซึ่งปัจจุบันประชาชนมีความอ่อนไหวในข้อมูลข่าวสารในสถานการณ์ COVID-19 และขอยืนยันว่า กองทัพบกได้ทุ่มเท ยึดมั่นในการดูแล ประชาชน และสนับสนุนรัฐบาลในสถานการณ์โควิดอย่างดีที่สุด ข่าวสารใดที่ประชาชนได้รับแล้วเกิดความไม่มั่นใจก็ขอให้ได้ตรวจสอบกับกองทัพบก หรือหน่วยงานที่ถูกพาดพิงเพื่อกำจัดกระบวนการข่าวปลอม

พ.ท.แบรนดอน แมคคาร์เธอร์ รอง ผอ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร ฝ่ายสหรัฐฯ ชี้แจงว่า กว่า 60 ปีที่ผ่านมา กองทัพบกสหรัฐฯ และกองทัพบกไทยร่วมทำงานกันอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร หรือ AFRIMS ในการต่อสู้กับโรคเขตร้อน พร้อมยืนยันมาตรฐานของห้องปฏิบัติการที่มีความปลอดภัยสูงในการวิจัยต่อสู้กับโรคเขตร้อนในภูมิภาค เช่น ไข้มาลาเรีย ไข้เลือดออก ชิกุนคุนย่า ชิการ์ โรคเชื้อไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และ HIV
ความร่วมมือในงานวิจัยร่วมกันช่วยให้พัฒนาวัคซีนที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง รวมถึงการวินิจฉัยและการรักษาทางการแพทย์ ซึ่งได้รักษาชีวิตของคนนับล้านทั่วโลก และยังคงดำเนินภารกิจต่อไป เช่น การสนับสนุนการพัฒนาวัคซีน mRNA ของจุฬาลงกรณ์ในช่วงการศึกษาขั้นต้น