บทเรียนแชร์ออนไลน์ สู่แรงจูงใจชิงทอง

เศรษฐกิจ
13 ก.ย. 64
19:00
734
Logo Thai PBS
บทเรียนแชร์ออนไลน์ สู่แรงจูงใจชิงทอง
เปิดบทเรียนกรณีเยาวชนหญิงชิงทรัพย์ร้านทอง จ.นนทบุรี หลังถูกแชร์ออนไลน์โกง ซึ่งปกติแล้ว การลงทุนแบบออนไลน์ต้องใช้ความระมัดระวังและความรู้ความเข้าใจสูง เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง ยิ่งการระบาดของโควิด-19 ที่คนต้องการเงิน ยิ่งทำให้สถานการณ์หลอกลวงรุนแรงขึ้น

วันนี้ (13 ก.ย.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีเยาวชนหญิง อายุ 17 ปี ก่อเหตุชิงทรัพย์ร้านทองใน จ.นนทบุรี เป็นคดีที่ได้รับความสนใจอย่างมาก และถูกตั้งคำถามมากเช่นกัน ซึ่งเยาวชนคนนี้ถูกจับไว้ได้ หลังจากชิงทองและกำลังจะวิ่งออกจากห้าง แต่ถูกชายคนหนึ่งที่เห็นเหตุการณ์และนั่งอยู่บริเวณศูนย์อาหาร ขัดขาจนเสียหลักล้ม ก่อนที่ประชาชนที่อยู่บริเวณนั้นช่วยกันจับตัวเอาไว้ได้

วันนี้ เยาวชนที่ก่อเหตุถูกปล่อยตัวชั่วคราว หลังจากผู้บริหารโรงเรียนที่เรียนอยู่ ยื่นประกันตัวต่อศาลด้วยหลักทรัพย์ 15,000 บาท คดีนี้ถูกตั้งข้อสังเกตถึงแรงจูงใจที่เยาวชนกล้าเสี่ยงกระทำผิด และให้การอ้างว่าต้องการนำทองไปขาย หาเงินมาชดเชยเงินที่เสียไปจากการลงทุนแชร์ผ่านไลน์ที่ชื่อ บ้านแชร์ แล้วถูกโกง แรกๆ ลงเงินจำนวนน้อย กลับได้คืนมามาก คราวนี้ก็ลงทุนไปก้อนใหญ่ แต่แชร์กลุ่มนี้กลับโกงปิดตัวไป เมื่อแม่ทวงถามหาเงิน เยาวชนคนนี้ไม่รู้จะทำอย่างไร จึงตัดสินใจชิงทอง ซึ่งตำรวจยืนยันว่าเยาวชนคนนี้ให้การแบบนี้

ปกติแล้ว วงแชร์จะเริ่มจากคนที่รู้จักและคุ้นเคยกัน ซึ่งมีกฎหมายรองรับอยู่ แต่ในปัจจุบัน การเล่นแชร์ออนไลน์ เป็นการเล่นแชร์ผ่านคนที่ไม่รู้จักกัน และยิ่งเมื่อเงินดิจิทัล หรือคริปโตเคอเรนซีได้รับการรู้จักเป็นวงกว้าง ก็จะมีผู้ชักชวนสมัครอ้างลงทุน ให้ผลตอบแทนสูง ถ้าเป็นผู้สูงวัยอาจไม่คุ้นเคยเงินดิจิทัล แต่อาจถูกจูงใจด้วยการหลอกว่านำเงินไปลงทุนหุ้นต่างประเทศ ลงทุนอัตราแลกเปลี่ยนที่ให้กำไรดี

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ยอมรับว่ากระแสชักชวนการลงทุน หรือภัยการเงินดิจิทัลต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งประชาชนยังมีความไม่เข้าใจ เช่น การถือครองลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลต้องระมัดระวังความเสี่ยง หรือมีคนส่งผ่านข้อความ ลิงก์ผ่านโซเชียลมีเดีย และอีเมล ประชาชนต้องระวังในการกดลิงก์หรือกรอกข้อมูล เพราะอาจตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงการลงทุนแชร์ลูกโซ่เท่านั้นที่มีเพิ่มขึ้น แต่จากสถิติจำนวนบัญชี ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศ เดือน ก.ย.2564 เริ่มมีสัญญาณกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลังชะลอจากช่วงที่ราคาบิตคอยน์เพิ่มขึ้น ประกอบกับขบวนการลงทุนแชร์ลูกโซ่ออนไลน์บางส่วนมักอ้างว่าสามารถจ่ายผลตอบแทนได้สูง เนื่องจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ขณะที่จำนวนบัญชีสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยสูงถึงกว่า 1,379,373 บัญชี เพิ่มขึ้นมาเกือบ 3 เท่าตัวในเวลาไม่กี่เดือน

น.ส.สาริกา อภิวรรธกกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมความรู้ตลาดทุนและศูนย์ประสานงานต่างจังหวัด ก.ล.ต.กล่าวว่า การลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล อาจสร้างโอกาสให้ผลตอบแทนแก่นักลงทุน แต่ขอให้นักลงทุนพึงตระหนักเสมอว่า "อะไรที่ดีเกินจริง มักไม่มีอยู่จริง"

ทั้งนี้ ก.ล.ต.ไม่มีเกณฑ์กำกับ และควบคุมเยาวชน โดยเฉพาะ แต่ขอให้ลงทุนกับผู้ที่ได้รับการรับรองจาก ก.ล.ต.เท่านั้น โดยสามารถตรวจสอบได้จาก แอปพลิเคชัน SEC.Check first ของ ก.ล.ต. เพื่อป้องกันการถูกหลอกลงทุน

อย่างไรก็ดี มีอีกตัวอย่างหนึ่งเป็นการหลอกให้ลงทุนเว็บไซต์ไทยทราเวล 66 ดอทคอม โปรโมทโรงแรม รีสอร์ต ร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยวในไทย ผู้ลงทุนกดยอดวิวจะได้รับผลตอบแทน แต่ต้องเสียค่าสมัครสมาชิก ตั้งแต่ 800-4,300 บาท การันตีรายได้ให้แม่ทีม ลูกทีม ท้ายที่สุดเป็นการหลอกเอาเงิน เสียหายเกือบ 100 ล้านบาท

น.ส.วราทิพย์ อากาหยี่ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า แต่ละเดือนจะได้รับการประสานจากตำรวจ เพื่อตรวจสอบความเป็นไปได้การลงทุน เมื่อเกิดการร้องเรียน 30-40 คดี ไม่รวมการให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 100,000 เรื่อง ปริมาณเครือข่ายขบวนการนี้ มีมากเสียจนไม่สามารถตามไปปิดกั้นความเสี่ยงได้ทั้งหมด

ขณะที่นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร ผู้อำนวยการ กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า กรณีคดีที่เข้าสู่กระบวนการดีเอสไอ คือมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 100 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีความซับซ้อนของการหลอกลวง เป็นความท้าทายของหน่วยงานที่ต้องจับกุม

แม้มีคำเตือนว่าการลงเงินแล้วได้กำไรหลายเท่าในเวลาสั้นๆ ไม่ใช่การลงทุน แต่เป็นความใจดีให้มิจฉาชีพเอาเงินไปใช้แล้วหายไปในกลีบเมฆ ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้รูปแบบโน้มน้าวหลอกลวงกันง่าย ท้ายสุดโทษใครไม่ได้ ต้องไม่โลภ ซึ่งจะเอามาเป็นข้ออ้างเพื่อทำผิด หรือชิงทองก็ไม่ได้อยู่แล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง