ระวังโรคที่มากับน้ำท่วม "ท้องร่วง-ตาแดง-ผิวหนัง-ฉี่หนู-น้ำกัดเท้า"

สังคม
28 ก.ย. 64
14:45
325
Logo Thai PBS
ระวังโรคที่มากับน้ำท่วม "ท้องร่วง-ตาแดง-ผิวหนัง-ฉี่หนู-น้ำกัดเท้า"
กรมการแพทย์เตือนภัยโรคที่มากับน้ำท่วม ส่วนใหญ่พบโรคท้องร่วง ตาแดง โรคผิวหนัง โรคฉี่หนูและน้ำกัดเท้า พร้อมแนะใช้น้ำสะอาด หากหาไม่ได้ควรต้มน้ำให้เดือดก่อนใช้อย่างน้อย 10 นาที

วันนี้ (28 ก.ย.2564) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม แหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคมีสิ่งปนเปื้อนมากับกระแสน้ำ ซึ่งจะนำเชื้อโรคของเสียต่างๆ รวมทั้งสารเคมีที่อาจปะปนมา อีกทั้งสภาพน้ำที่ท่วมขังส่งผลให้สัตว์และแมลงออกจากรังมาอาศัยอยู่บริเวณต่างๆ รวมทั้งพาหะนำโรคต่าง ๆ สามารถเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว

ปัญหาด้านสุขภาพที่พบบ่อย ได้แก่ โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร เช่น โรคท้องร่วง จากการติดเชื้อจากอาหารเป็นพิษ โรคเล็บโตสไปโรสิส (โรคฉี่หนู) โรคตาแดง เป็นโรคที่มีเยื่อบุตาขาวอักเสบจากเชื้อไวรัสที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและติดต่อง่าย โดยจะแพร่กระจายเชื้อสู่บุคคลรอบข้างได้ด้วยการสัมผัส ผู้ป่วยจะมีอาการตาแดง เคืองตา อาจมีต่อมน้ำเหลืองที่กกหูโตและกดเจ็บ มีไข้ต่ำๆ เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

รวมถึงโรคผิวหนังที่เกิดจากการประสบภัยน้ำท่วม ได้แก่ โรคผิวหนัง จากการสัมผัสกับสารเคมี สิ่งสกปรก หรือติดเชื้อที่ผิวหนัง ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือหนอนพยาธิ โรคผิวหนังจากแมลงสัตว์มีพิษกัดต่อย และโรคน้ำกัดเท้า เมื่อเดินย่ำน้ำบ่อยๆ หรือยืนแช่น้ำนานๆ จะทำให้เท้าเปื่อย โดยเฉพาะบริเวณซอกเท้า ซึ่งบริเวณผิวหนังที่เปื่อยนี้เป็นจุดอ่อนทำให้เชื้อโรคที่มากับน้ำเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายมากขึ้น

 

สำหรับการป้องกันโรคตาแดง หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ เพราะมือที่มีเชื้อโรคจะแพร่กระจายเชื้อได้ดี ไม่ขยี้ตาหรือเช็ดตาแรงๆ และไม่ควรซื้อยามาหยอดตาเอง หรือใช้ยาหยอดตาร่วมกับผู้อื่น

นอกจากนี้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมควรหลีกเลี่ยงการแช่เท้าในน้ำนานๆ หากจำเป็นต้องลุยน้ำให้สวมรองเท้าบู๊ท เพื่อป้องกันของมีคมในน้ำทิ่มตำ และรีบทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ เช็ดเท้าให้แห้ง หากมีบาดแผลหรือผื่นที่ผิวหนังไม่ควรสัมผัสน้ำสกปรก ควรพบแพทย์ ทายา หรือรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

อธิบดีกรมการแพทย์ ยังแนะนำให้แต่ละบ้านควรมีน้ำสะอาดเพื่อใช้อุปโภคหรือบริโภค หากหาแหล่งน้ำสะอาดไม่ได้ควรต้มน้ำให้เดือดก่อนใช้อย่างน้อย 10 นาที

แต่หากอาศัยอยู่ใกล้แหล่งโรงงานอุตสาหกรรมหรือแหล่งสารเคมี พึงระลึกเสมอว่าแหล่งน้ำดังกล่าวอาจปนเปื้อนสารเคมี ซึ่งความร้อนไม่สามารถทำให้น้ำเหล่านี้สะอาดพอสำหรับการบริโภคได้ จึงควรจัดหาน้ำสะอาดไว้ใช้ในครัวเรือนให้เพียงพอ เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลำบาก! น้ำท่วมรอบ รพ.สุโขทัย ใช้เรือรับส่งผู้ป่วย-ผู้มาติดต่อ

น้ำท่วม "ลพบุรี" เดือดร้อนกว่า 55,790 ครัวเรือน พบเสียชีวิต 5 คน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง