"โควิด-น้ำท่วม" ศูนย์วิจัยกสิกรคาดปี 64 คนกรุงฯ ใช้จ่ายกินเจไม่คึกคัก

เศรษฐกิจ
4 ต.ค. 64
18:43
291
Logo Thai PBS
"โควิด-น้ำท่วม" ศูนย์วิจัยกสิกรคาดปี 64 คนกรุงฯ ใช้จ่ายกินเจไม่คึกคัก
สถานการณ์ COVID-19 จะเริ่มคลี่คลาย แต่วิกฤตน้ำท่วมก็ตามมาติด ๆ ทำให้ประชาชนอาจยังไม่สะดวกใช้จ่ายแม้จะเป็นช่วงเทศกาลกินเจ วันที่ 6-14 ต.ค. ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการใช้จ่ายของคนกรุงจะหดตัว 8.2% จากปีก่อน ขณะที่ ม.หอการค้า คาดว่าไม่คึกคักเช่นเดียวกัน

แม้สถานการณ์ COVID-19 และการเข้าถึงวัคซีนจะเริ่มมีสัญญาณบวก แต่สถานการณ์น้ำท่วมและราคาพลังงานที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น เป็นปัจจัยเฉพาะหน้าเพิ่มเติมที่เข้ามากระทบความเชื่อมั่น ฉุดรั้งกำลังซื้อ และอาจสร้างความไม่สะดวกต่อการใช้จ่ายให้กับผู้บริโภคในช่วงเวลานี้ที่เทศกาลกินเจกำลังจะมาถึงในวันที่ 6-14 ต.ค.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เทศกาลกินเจปี 2564 คนกรุงเทพฯ จะมีเม็ดเงินค่าใช้จ่ายตลอดช่วงเทศกาลอยู่ที่ 3,600 ล้านบาท หดตัว 8.2% เมื่อเทียบกับเทศกาลกินเจปีก่อน ซึ่งนอกจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นผลจากจำนวนคนที่กินเจลดลง อีกทั้งยังปรับลดจำนวนวันในการกินเจลงเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานออฟฟิศที่บางส่วนยังคง Work From Home จึงไม่เอื้อต่อการจับจ่ายในช่องทางการกินเจที่คุ้นเคยอย่างร้านอาหารข้างทางบริเวณที่ทำงาน ขณะที่ช่องทางร้านสะดวกซื้อและเดลิเวอรี/ออนไลน์มีแนวโน้มที่คนจะหันมาใช้บริการมากขึ้น เพราะตอบโจทย์ในเรื่องของความหลากหลายของสินค้า และบริการจัดส่งที่สะดวกขึ้น

​​ในระยะข้างหน้า ตลาดอาหารวีแกนน่าจะเติบโตขึ้นไม่เฉพาะแต่ในช่วงเทศกาลกินเจเท่านั้น แต่จากพฤติกรรมของคนไทยที่หันมาเลือกบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ รวมถึงกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี การจะเพิ่มอัตราการบริโภคและยอดขายได้มากหรือน้อยนั้นคงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่ผู้บริโภคจะให้น้ำหนัก ไม่ว่าจะเป็นราคา รสชาติ ความหลากหลายของสินค้า ช่องทางการจัดจำหน่าย เป็นต้น

ม.หอการค้า คาดเทศกาลเจ 64 ไม่คึกคัก

สอดคล้องกับ "ธนวรรธน์ พลวิชัย" อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลกินเจ 2564 ระหว่างวันที่ 4-13 ต.ค. จากตัวอย่างทั้งสิ้น 1,208 ตัวอย่างทั่วประเทศว่า เทศกาลกินเจ 2564 ไม่คึกคัก ส่งผลให้มียอดการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลเจอยู่ที่ 40,147 ล้านบาท ติดลบ 14.5% เมื่อเทียบกับเทศกาลกินเจในปี 2563 ที่มีมูลค่า 46,967 ล้านบาท ถือว่าเทศกาลกินเจในปีนี้ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี ปัจจัยลบจาก COVID-19 และน้ำท่วม

ทั้งนี้ แหล่งที่มาของเงินที่นำมาใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจ 2564 81.9% มาจากรายได้ประจำ รองลงมาจากเงินช่วยเหลือของภาครัฐ 7.7% เงินออม 4.5% ขณะที่รายได้พิเศษ 3.4% ลดลงมากเมื่อเทียบกับปี63 ที่อยู่ 7.2% ส่วนภาพรวมของเศรษฐกิจไทยต่อจากนี้ไปเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวและจะฟื้นตัวได้อย่างปกติในครึ่งหลังปี 2565 แต่หนี้สินเพิ่มขึ้น พร้อมเชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้นจากรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ทำให้เศรษฐกิจเริ่มคึกคัก ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่จำเป็น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง