ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เตือน 5 จว.อีสานเสี่ยงน้ำมูลท่วม 8-11 ต.ค.นี้

ภัยพิบัติ
7 ต.ค. 64
14:11
3,433
Logo Thai PBS
เตือน 5 จว.อีสานเสี่ยงน้ำมูลท่วม 8-11 ต.ค.นี้
กรมชลประทาน เตือน 5 จังหวัดอีสานริมน้ำมูลครอบคลุม จ.อุบลราชธานี บุรีรัมย์ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งริมแม่น้ำมูลสูง 0.50–1 เมตร ช่วงวันที่ 8-11 ต.ค.นี้

วันนี้ (7 ต.ค.2564) นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่ามีร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังค่อนข้างแรง ในช่วงวันที่ 7-11 ต.ค.นี้ รวมทั้งพายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 10-11 ต.ค.นี้ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง

ทั้งนี้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) คาดการณ์ปริมาณฝนตก ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาและสถา บันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ซึ่งประเมินมวลน้ำหลากสูงสุดจากลำตะคอง ลำจักราช จ.นครราชสีมา และลำน้ำสาขาลุ่มน้ำมูลตอนบน คาดการณ์มวลน้ำสูงสุดจะไหลผ่าน จ.อุบลราชธานี ช่วงวันที่ 8-11 ต.ค.นี้ ส่งผลให้แม่น้ำมูลมีระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 0.50–1 เมตร โดยมีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังระดับน้ำเอ่อล้นตลิ่งบริเวณริมแม่น้ำมูล ดังนี้

  • อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ 
  • อ.ชุมพลบุรี อ.ท่าตูม และอ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ 
  • อ.โพนทราย อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด 
  • อ.เมืองศรีสะเกษ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ อ.บึงบูรพ์ อ.ยางชุมน้อย อ.ราษีไศล อ.ศิลาลาด อ.อุทุมพรพิสัย อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ 

ขณะเดียวกันจะมีมวลน้ำหลากจากแม่น้ำชี ไหลมารวมกับแม่น้ำมูลที่จ.อุบลราชธานี ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขงคาดการณ์ว่ามวลน้ำสูงสุดจะไหลผ่านจ.อุบลราชธานี ในช่วงวันที่ 16-20 ต.ค.นี้ โดยมีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังระดับน้ำเอ่อล้นตลิ่งบริเวณริมแม่น้ำมูล ในเขต อ.เขื่องใน อ.เมือง อ.ดอนมดแดง อ.ม่วงสามสิบ อ.วารินชำราบ และอ.สว่างวีระวงศ์

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้สั่งการไปยังสำนักงานชลประทาน และโครงการชลประทานในติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะบริเวณจุดเสี่ยง และพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขังอยู่ แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำชี แม่น้ำมูล และลำน้ำสาขา ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น

พร้อมทั้งปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนต่างๆ ในลุ่มน้ำ ปรับแผนการบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำ ประตูระบายน้ำเพื่อพร่องน้ำ บริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ และบริหารจัดจราจรน้ำในแม่น้ำชีและมูล เพื่อเร่งระบายน้ำไว้รองรับน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน ลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

หนีน้ำท่วมมิดหลังคา! หมู่บ้านหรูขอนแก่นจมบาดาลนับร้อยหลัง

ท่วมซ้ำ! ชาวบ้านหมอ ทวงคำตอบนอนเต็นท์ริมถนนยังไม่พ้นน้ำท่วม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง