ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ภารกิจ "รุกขกร" ฟื้นฟูต้นยางนาอายุร้อยปี ถนนเชียงใหม่-ลำพูน

สิ่งแวดล้อม
11 ต.ค. 64
13:59
900
Logo Thai PBS
ภารกิจ "รุกขกร" ฟื้นฟูต้นยางนาอายุร้อยปี ถนนเชียงใหม่-ลำพูน
เปิดภารกิจรุกขกร กรมป่าไม้ ปีนป่ายสำรวจต้นยางนาอายุนับร้อยปี ถนนเชียงใหม่-ลำพูน พร้อมแนะแนวทางดูแลอย่างยั่งยืน สร้างความปลอดภัยคนริมสองฝั่งถนน ควบคู่อนุรักษ์ต้นไม้ที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ

ความเสียหายกรณีต้นยางนา 10 ต้น โค่นล้มทับบ้านเรือนประชาชนนับ 10 หลัง ถนนเชียงใหม่-ลำพูน หลังจากฝนตกหนักลมแรงเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางดูแลอนุรักษ์ต้นยางอายุนับร้อยปี ควบคู่ความปลอดภัยของคนริมสองข้างทาง ไทยพีบีเอส ติดตามภารกิจ "รุกขกร" กรมป่าไม้ ลงพื้นที่สำรวจความเสี่ยงต้นไม้

 

"รุกขกร" ยกมือไหว้ด้วยความเคารพ ก่อนปีนเชือกขึ้นสำรวจเรือนยอด และตัดแต่งกิ่งต้นยางนาความสูง 50 เมตร อายุนับ 100 ปี

"ต้นไม้มีบุญคุณกับทุกชีวิต" ดร.คงศักดิ์ มีแก้ว ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยการจัดการป่าไม้ กรมป่าไม้ สะท้อนความรู้สึกของรุกขกรที่ทำงานผูกพันกับต้นไม้มาอย่างยาวนาน ว่า ต้นไม้บางต้นอายุมากกว่าพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย แม้เดินไม่ได้ พูดไม่ได้ แต่เชื่อว่ามีความรู้สึก การไหว้แสดงออกถึงความเคารพ รู้สึกดี และระลึกถึง รวมทั้งขออนุญาตก่อนดำเนินการต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ผู้อื่นเดือดร้อน หรือรังเกียจต้นไม้

 

"รู้สึกว่าต้นไม้มีบุญคุณกับสิ่งมีชีวิตทุกชีวิต แม้กระทั่งคนที่คิดจะทำร้ายทำลายเขา เขาก็ยังให้ร่มเงา ให้อากาศที่บริสุทธิ์ ให้น้ำ ดูดก๊าซพิษ ผมรู้สึกหดหู่ใจที่มีคนก่นด่า รังเกียจต้นไม้ นึกถึงเราถ้าดูแลช่วยเหลือใครตลอดเวลาแล้วถูกต่อว่าก็รู้สึกหดหู่ใจแทน"

ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยการจัดการป่าไม้ กรมป่าไม้ กล่าวถึงแนวทางการดูแลอนุรักษ์ต้นยางนา และป้องกันความเสียหายรุนแรง ซึ่งอาจต้องตัดแต่งกิ่ง เน้นกิ่งที่แห้งและหนา กรณีโน้มเอียงมีน้ำหนักไปด้านใดด้านหนึ่ง ต้องพิจารณาร่นลงมาเพื่อลดน้ำหนักต้นที่โน้มเอียง และขยายกิ่งที่ไม่มีให้มากที่สุดเพื่อรักษาสมดุล

ส่วนการแก้ปัญหาระบบรากต้องวางแผนระยะยาว หลักการคือให้อาหารทางราก ต้องทำให้เกิดรากเพิ่มขึ้นและห่างจากลำต้น แทนที่จะให้รากกระจุกอยู่ที่โคนต้น เพื่อให้เกิดรากไกลที่สุด และเกิดรากฝอยยึดโยงต้นไม้ไว้

 

"ราก ลำต้น เรือนยอด" ต้องสมดุล

ดร.คงศักดิ์ อธิบายระบบของต้นไม้ที่ต้องสัมพันธ์กันอย่างสมดุล คือ รากของต้นไม้ทำหน้าที่หาอาหาร ซึ่งรากฝอยจะหาอาหารและยึดความแข็งแรง ต้นไม้จะมีรากแขนง รากใหญ่ เมื่อต้นโตขึ้นรากแก้วจะหดหายออกไปเป็นธรรมชาติ รากที่จะทำให้ต้นไม้อยู่ได้ คือ รากแขนง ปกติจะแผ่กว้างกว่าเรือนยอด โดยจะแผ่ให้กว้างมากที่สุดเพื่อรักษาระดับเรือนยอด

ลำต้นต้องไม่กลวง ไม่มีแผล ไม่มีรอยตัด ลำต้นลำเลียงอาหารแร่ธาตุไปให้ใบเพื่อสังเคราะห์และปรุงอาหาร ลำเลียงจากรากไปเรือนยอด หากรากถูกบล็อกไม่ให้ทำงาน ไม่ให้หาอาหาร หรือหาได้ไม่เพียงพอส่งไปข้างบน และอาจถูกบล็อกด้วยวัสดุ เช่น คอนกรีต ยางมะตอย ไม่ให้น้ำและอากาศซึมผ่านราก ทำให้รากแห้ง รากตาย สุดท้ายรากจะเน่าและมีผลต่อเรือนยอด

 

"ถ้าไปให้อาหารที่โคนต้นจะออกรากฝอยเพื่อเอาอาหารไปสร้างใบ ปลายกิ่งจะเล็กและอาจแห้ง แต่โคนกิ่งจะงาม พอขึ้นเรือนยอดเยอะ ๆ ก็จะแน่นและทึบเวลาลมพัดผ่านไม่โปร่ง จะเป็นแรงต้านทำให้ต้นไม้ล้มง่าย"

เมื่อเรือนยอดรับแรงลม แต่รากไม่แข็งแรง มีโอกาสที่ต้นไม้จะล้มได้สูง ใบไม้อยู่ใต้ร่มไม่ได้สังเคราะห์แสง แต่ต้นไม้กินอาหารอย่างเดียว เปรียบเหมือนบริษัทมีพนักงานมาก แต่ทำงานไม่เกิดประโยชน์ต่อองค์กรทั้งที่รับเงินเดือนสูง สุดท้ายบริษัทก็อยู่ไม่ได้ เหมือนต้นไม้ที่ต้องล้ม

ตั้งเป้าสำรวจความเสี่ยง 949 ต้น

ปัจจุบันถนนเชียงใหม่-ลำพูน มีต้นยางนา 949 ต้น เฉลี่ยความสูง 40-50 เมตร การอนุรักษ์เฉพาะการตัดทรงพุ่มเป็นเรื่องยากกว่าจะครบ ซึ่งบทบาทขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่รับผิดชอบโดยตรง ที่มีภารกิจทั้งจังหวัด การดูแลต้นยางนา อาคาร ถนน สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ปัจจุบันมีคณะกรรมการยางนาขี้เหล็กระดับจังหวัดดูแล

เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา ทีมรุกขกรของกรมป่าไม้ ลงพื้นที่หารือกับนายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ คณะจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และกลุ่มเขียวสวยหอม ซึ่งเป็นทีมหลักดูแลต้นไม้อยู่แล้ว โดยเฉพาะ 30 ต้นที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก จะต้องตัดกิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาในการปะทะลม เป็นกิ่งภายในเรือนยอดที่หนาแน่นทึบและเป็นตัวกั้นลม กิ่งที่แห้งผุหัก และกิ่งที่โน้มออกไปด้านนอกมาก ๆ จนน้ำหนักตกไปที่ด้านใดด้านหนึ่ง

ทั้งนี้ ตั้งเป้าสำรวจระดับความเสี่ยงของต้นยางนาทั้งหมดและวางแผนการดูแลเป็นฐานข้อมูลของแต่ละต้น เพื่อให้หน่วยงานใน จ.เชียงใหม่ ประชุมหารือและกำหนดแนวทางในการจัดการ คาดว่าจะสำรวจแล้วเสร็จภายใน 1-2 สัปดาห์

 

"นำข้อมูลวิเคราะห์ว่าต้นไม้เดิมมีอยู่จำนวนเท่าใด แต่ละต้นมีความเสี่ยงน้อย ปานกลาง และเสี่ยงมากกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อจัดการวางแผนดูแลฟื้นฟูต่อไป"

นอกจากนี้ ทีมของกรมป่าไม้เตรียมจัดอบรมทีมรุกขกรในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ทั้งเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้และประชาชนที่สนใจ ยกตัวอย่างถนนหนึ่งเส้นมีองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 5 แห่ง แต่ละ อบต. จะจัดทีมดูแลต้นไม้ในจำนวนที่เหมาะสมกับพื้นที่ ถือเป็นความยั่งยืนในการดูแลบ้านของตัวเอง

"ให้คนพื้นถิ่นดูแล ไม่ใช่อาศัยแต่จ้างบริษัทบุคคลภายนอก รับงานเสร็จรับเงินเขาก็ไป ความยั่งยืนไม่เกิด เมื่อเทียบกับคนในพื้นที่เป็นรุกขกรดูแลจริง ๆ"

 

สำหรับข้อเสนอในการแก้ปัญหาระยะสั้น คือ ตัดทอน ตัดแต่งกิ่งต้นยางนาที่สำรวจ 30 ต้น การทำเชือกยึดโยงป้องกันการล้มของต้นยาง การเตือนภัยทั้งความเร็วและความแรงของลม

ส่วนในระยะยาวต้องแก้ไขโครงสร้างสาธารณูปโภคทั้งระบบ เช่น ก่อสร้างถนนใหม่เป็นแบบยกระดับ ด้านล่างเป็นดิน ลดการกดทับของรถยนต์ที่วิ่งไปมา และนำสายไฟลงดิน

แต่โจทย์ใหญ่ คือ การสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยกับชาวบ้านริมสองข้างทาง ที่สำคัญคือคง "ต้นยางนา" ความภาคภูมิใจบรรพบุรุษชาวเชียงใหม่ที่ปลูกต้นไม้ใหญ่ สร้างเอกลักษณ์ถนนร่มรื่นสวยงาม

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ต้นยางนาริมถนนสาย "เชียงใหม่-ลำพูน" ล้มทับบ้านเรือนเสียหาย

ตรวจรากต้นยางนาล้มทับบ้าน พบรากไม่สมบูรณ์-แห้ง-ไม่ยึดหน้าดิน

ย้อนกำเนิด "ต้นยางนา" ถนนเชียงใหม่-ลำพูน 139 ปี

ชาวบ้านผวา! หวั่นล้มซ้ำวอนรัฐเร่งตัดกิ่ง "ยางนา"

เร่งสำรวจ "ต้นยางนา" ติดอุปกรณ์เตือนก่อนโค่นล้ม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง