ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กอนช.ชงลดระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ลดผลกระทบพื้นที่น้ำท่วม

ภัยพิบัติ
28 ต.ค. 64
19:57
588
Logo Thai PBS
กอนช.ชงลดระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ลดผลกระทบพื้นที่น้ำท่วม
กอนช.นัดถก ปรับแผนระบายน้ำพื้นที่ตอนบน ก่อนผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้น้อยที่สุด พร้อมเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขัง เพื่อให้ประชาชนทยอยกลับเข้าบ้าน เร่งฟื้นฟูเยียวยาตามขั้นตอนหลังน้ำลด

วันนี้ (28 ต.ค.2564) นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพฝน ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าแหล่งน้ำ แม่น้ำต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน มีทิศทางที่ลดลง สทนช. จึงนัดประชุมหารือกับ กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อทบทวนแผนการระบายน้ำจากเขื่อนต่างๆ เช่น เขื่อนป่าสักฯ เขื่อนทับเสลา เขื่อนแควน้อยฯ ให้น้อยที่สุด ไม่ให้ลงมาซ้ำเติมในพื้นที่น้ำท่วมขังปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน ยังเป็นการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งที่จะถึงนี้ให้มากที่สุดด้วย โดยไม่ส่งผลกระทบกับกิจกรรมการใช้น้ำในพื้นที่ด้วย เพื่อให้มีปริมาณน้ำระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท น้อยที่สุด และภายในระยะเวลาที่เร็วที่สุด เพื่อให้สถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างคลี่คลายโดยเร็ว ซึ่ง สทนช.จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมในวันพรุ่งนี้ (29 ต.ค.)

 

ปัจจุบันการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 2,464 ลูกบาศก์เมตร/วินาที (ลบ.ม./วินาที) ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมชลประทาน ร่วมกับ กฟผ. จัดทำแผนปรับลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา พร้อมกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน เพื่อให้สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ ที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้ คลี่คลายโดยเร็ว

หากปริมาณน้ำที่ระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลดลงมาอยู่ที่ 2,000 ลบ.ม./วินาที จะทำให้สถานการณ์น้ำท่วมบริเวณ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท อ.ไชโย อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง อ.อินทร์บุรี อ.พรหมบุรี อ.เมือง จ.สิงห์บุรี รวมถึง จ.ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร เริ่มคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น

และหากลดระดับการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์ 1,500 ลบ.ม./วินาที จะทำให้สถานการณ์น้ำท่วมบริเวณ อ.พรหมบุรี อ.เมือง จ.สิงห์บุรี เริ่มคลี่คลายลง และลดเหลือ 1,000 ลบ.ม./วินาที ตามลำดับ ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมขังโดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งเริ่มคลี่คลาย ตั้งแต่บริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล แม่น้ำน้อย ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา



นอกจากการพิจารณาปรับแผนบริหารจัดการน้ำตอนบน เพื่อให้น้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาน้อยที่สุดแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงเร่งดำเนินการสูบน้ำ และวางแผนการเร่งระบายน้ำจากพื้นที่น้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่อง รวมถึงทุ่งรับน้ำ เพื่อให้น้ำไหลกลับเข้าสู่ลำน้ำสายหลักก่อนระบายออกสู่ทะเล ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างสามารถเคลื่อนย้ายสิ่งของ และทยอยกลับเข้าสู่บ้านเรือนได้เร็วที่สุด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง