7 วัน "เสือวิจิตร" เดินทางไกล 83 กม.แวะวัด-สำนักสงฆ์ 6 แห่ง

สิ่งแวดล้อม
9 ธ.ค. 64
10:37
5,778
Logo Thai PBS
7 วัน "เสือวิจิตร" เดินทางไกล 83 กม.แวะวัด-สำนักสงฆ์ 6 แห่ง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เปิดแผนที่การเดินทาง "เสือวิจิตร" เสือหนุ่มป่าห้วยขาแข้ง ออกท่องโลกนาน 7 วัน พิกัดดาวเทียม 83 กม.จากอุทัยธานี ผ่านป่าแม่วงก์ ฝั่ง จ.นครสวรรค์ ถึงกำแพงเพชร ผ่านวัด-สำนักสงฆ์ 6 แห่ง ทีมวิจัยแซวสงสัยแอบฟังธรรม ระบุเสือวิจิตรเปิดใจคนไทย เตรียมทำแผนเผชิญเหตุ

วันนี้ (9 ธ.ค.2564) เพจเฟซบุ๊ก Thailand Tiger Project DNP  โพสต์ข้อมูลบางมุมที่ได้จากการเดินทางของวิจิตร เสือโคร่งป่าห้วยขาแข้ง หลังออกจากพื้นที่ป่าเดินทางไกลมาถึงพื้นที่ อ.ปางศิลาทอง จ.กำแพงเพชร โดยบอกเล่าถึงการเดินทางของวิจิตรในช่วง 2 วันสุดท้าย ก่อนที่วิจิตรจะกลับเข้าพื้นที่ป่า ซึ่งพบว่าในเส้นทางเสือวิจิตรอยู่กับวัดและสำนักสงฆ์

วิจิตรกับวัด

เส้นทางการรอนแรมของวิจิตร ที่ส่องผ่านระบบดาวเทียม แสดงให้เห็นว่าเส้นทางที่มันเฉียดกายเข้าไปใกล้ชุมชนนั้น ได้โฉบผ่านใกล้วัด เมื่อซูมขยายดูก็เห็นว่า เมื่อหลุดพ้นขอบป่าปุ๊บ ได้แฉลบไปที่วัดซับตามิ่ง เป็นวัดแรกนัยว่า มาขอพรให้เดินทางแคล้วคลาดปลอดภัยกระมัง

เมื่อเร่ร่อนอยู่ในเขตชุมชน มันก็เลือกเส้นทางที่ผ่าน ทั้งวัดและสำนักสงฆ์ จนบางวัดถึงขั้นนอนฟังธรรมแบบที่เคยโดนเมาท์ รวมเบ็ดเสร็จนับได้ 6 วัด ทั้งที่ใจจริงคงอยากเก็บเรคคอร์ด 9 วัด แต่ความแตกเสียก่อน จึงต้องย้อนเข้าป่า

 

ในช่วงเวลาแห่งการค้นหาแหล่งที่อยู่ของวิจิตร โดยการตามรับสัญญาณวิทยุจากปลอกคอ บริเวณที่สูงเช่น เนินเขา เป็นจุดที่ช่วยให้รับสัญญาณได้ไกลขึ้น วันหนึ่งขณะเดินทางขึ้นเนินตามเส้นทางที่คล้ายด่านสัตว์ที่ชันไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดหนึ่ง ทีมงานหยุดชะงักทันที ตรงนั้นคล้ายหลุมฝังศพ จึงลงมาทันที

ส่วนวัด ก็เป็นจุดรับสัญญาณที่ทีมติดตามเลือกใช้ เพราะวัดในชุมชนที่วิจิตรเร่ร่อน ไปส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนไหล่เขาสูง ที่ทำเลดี และมองลงมาก็วิวหลักล้านเลย ด้านหลังวัดมักเป็นป่า ซึ่งทำให้ดูร่มรื่นและร่มเย็น บวกกับความสงบ จึงเป็นเหตุให้วิจิตรต้องแวะเวียนไปหรือไม่ ก็น่าคิด (ไม่รวมถึงสหายสี่ขาคู่วัด)

อ่านข่าวเพิ่ม วอนอย่าสร้างภาพลบ "เสือวิจิตร" อุทยานฯ เร่งค้นหา หวั่นถูกฆ่า

วิจิตรกับพื้นที่เกษตร

ในเส้นทางที่วิจิตรเดินผ่านไป ส่วนใหญ่เป็นแปลงปลูกมันสำปะหลังที่มีพื้นที่ติดต่อกันจนคล้ายป่าผืนย่อม ๆ สลับกับแปลงปลูกไม้ยูคา ป่าสัก ที่มันใช้เป็นเส้นทางลัดเลาะก่อนจะเจอป่าจริงบนเขาลูกโดดที่เรียกกันว่า หย่อมป่า ส่วนบ้านคนหรือชุมชนนั้น อยู่กันแบบห่าง ๆ ห่างมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่วิจิตรจะใช้เวลาในการผจญภัยค้นหาแล้วพบว่า ส่วนใหญ่มันคือป่าปลอม ไม่ใช่ ป่าจริง แล้วตั้งหน้าดิ่งตรงกลับป่าจริงอย่างไม่ได้มีการลังเลอีกต่อไป

วิจิตรกับการเปิดใจของคนไทย

ขณะจอดรถข้างถนนเพื่อรับสัญญาณวิทยุจากปลอกคอ เสียงจากชายที่คร่อมมอเตอร์ไซค์ทางแยกฝั่งตรงข้ามตะโกนมา “เจอวิจิตรรึยัง” นุดวิจัยตอบ “ยังเลย เอาไปซ่อนไว้ที่ไหนอะ” เสียงตอบกลับมา “ถ้าบอกว่าใส่ไว้ในขวดเหล้าก็มุกเก่าไปแล้ว” แล้วก็บิดรถออกไป

เมื่อสิ่งที่คนถามถึงคือเสือโคร่ง แต่ไม่ถามว่าเจอเสือรึยัง มันบอกได้ถึงการเข้าถึงสื่อ ของชาวบ้านในละแวกนั้น และการมองเสือโคร่งด้วยเจตคติที่ดีขึ้น คงไม่คิดว่ามันน่ากลัวดุร้าย

 

มาที่อีกมุมหนึ่งของหมู่บ้าน หญิงชราเดินมาสอบถามข้อมูลเสือโคร่งวิจิตร กับหัวหน้าบ้านด้วยความอยากรู้ผสมกับความกังวลว่าตัวเองอาจได้รับอันตราย เมื่อต้องเข้าไร่ไปนา แต่คำตอบที่ได้รับคือ “อยู่หลังบ้านแกนั่นแหละ มืดค่ำอย่าลงจากบ้านละกัน” ตอบแบบเอามันใช่ปะ เพราะตอนนั้นเสือวิจิตรประชิดป่าไปแล้ว

แต่ถ้ามองภาพรวมของคนไทยจากยอดล้านกว่าที่เข้าถึงถึงเรื่องราวของเสือโคร่งวิจิตรที่ หน้าเพจนี้ ก็แสดงให้เห็นว่าคนไทย เปิดใจรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเสือโคร่งไทยมากขึ้น

ขอบคุณทุกหัวใจที่สนใจและเป็นห่วง หนุ่มน้อยวิจิตร ที่ใช้เวลา 7 วันผจญภัยในชุมชน รวมระยะทาง 83 กิโลเมตร ที่ไกลออกจากบ้านเดิมไป

ทำความเข้าใจ-แผนเผชิญเหตุสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่

น.ส.วีรยา โอชะกุล ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า กรณีของเสือวัยรุ่นแบบเสือวิจิตร ที่จะต้องออกจากป่าและอาจเข้ามาใกล้ชุมชนรอบแนวเขตป่าทั้งห้วยขาแข้ง ป่าแม่วงก์ เชื่อว่าในอนาคตจะต้องมีอีกแน่ ๆ เพราะพื้นที่ป่าที่รองรับประชากรเสือในปัจจุบันยังไม่เพียงพอ จึงต้องต้องมีการเตรียมความพร้อม เรื่องความอุดมสมบูรณ์ของบ้านใหม่ และเหยื่ออาหารของสัตว์ผู้ล่า

ประชาชนรอบผืนป่า จำเป็นต้องมีการสร้างความรับรู้ ความเข้าใจให้กับชุมชนจุดเสี่ยงที่เสือจะเดินออกมา การระมัดระวังตัวไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป รวมทั้งรู้พฤติกรรมเสือ ดูแลตัวเองและสัตว์เลี้ยง และอาจต้องมีแผนเผชิญเหตุในพื้นที่เพื่อไม่ให้เกิดการทำร้ายสัตว์ป่า 

ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า ส่วนงานวิจัยนั้น ทีม Thailand Tiger Project DNP กำลังศึกษาพฤติกรรมของเสือวัยรุ่น ให้รู้รูปแบบพฤติกรรมและการเดินทางเพื่อวางแผนรับมือ และเฝ้าระวังในพื้นที่โดยรอบ สิ่งสำคัญคือการปรับปรุงพื้นที่ป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์ อาจต้องมีทุ่งหญ้ารองรับประชากรเหยื่อให้เพียงพอ ทำให้เสือโคร่งไม่ต้องเดินหาบ้านใหม่ในระยะไกลและเข้าใกล้ชุมชน

ห้วยขาแข้งที่เป็นแหล่งกระจายพันธุ์ของเสือโคร่ง ออกไปในป่าตะวันตกที่สมบูรณ์ที่สุดจึงต้องรักษาป่าเพื่อรักษาเสือโคร่งและสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดแฟ้มประวัติ "เสือวิจิตร" เสือหนุ่มแห่งป่าห้วยขาแข้ง

ภารกิจต้อน "เสือวิจิตร" กลับป่า นักวิจัยแนะชาวบ้านใช้ชีวิตปกติ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง