นักวิจัยจีนพบ "ฟอสซิลตัวอ่อน" ในไข่ไดโนเสาร์ คาดอายุ 66 ล้านปี

Logo Thai PBS
นักวิจัยจีนพบ "ฟอสซิลตัวอ่อน" ในไข่ไดโนเสาร์ คาดอายุ 66 ล้านปี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิจัยประกาศค้นพบฟอสซิลตัวอ่อนไดโนเสาร์ที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างสมบูรณ์ และกำลังเตรียมที่จะฟักออกจากไข่ คาดว่ามันมีอายุอย่างน้อย 66 ล้านปี

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า นักวิจัยประกาศการค้นพบ ฟอสซิลตัวอ่อนไดโนเสาร์ที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างสมบูรณ์ และกำลังเตรียมที่จะฟักออกจากไข่ โดยไข่ไดโนเสาร์นี้ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 2000 แต่ถูกเก็บไว้นานกว่า 10 ปี ก่อนที่นักวิจัยจะหันมาให้ความสนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เนื่องจากสงสัยว่าภายในอาจมีตัวอ่อนของไดโนเสาร์อยู่

นักวิจัย ค้นพบตัวอ่อนไดโนเสาร์ในกว่างโจว ทางตอนใต้ของจีน คาดว่ามันมีอายุอย่างน้อย 66 ล้านปี และเชื่อว่าเป็น ไดโนเสาร์เทอโรพอดไร้ฟัน (Toothless Theropod Dinosaur) หรือโอวิแรปโตโรซอร์ โดยตั้งชื่อมันว่า "Baby Yingliang" หรือ "ตัวอ่อนอิงเหลียง"

มันคือตัวอ่อนไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์แบบและดีที่สุดเท่าที่เคยพบมาในประวัติศาสตร์
ภาพ :

ภาพ :

ภาพ : "AFP PHOTO / UNIVERSITY OF BIRMINGHAM/LIDA XING"


การค้นพบครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในวงการวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยให้นักวิจัยได้เข้าใจถึงความเชื่อมโยงระหว่างไดโนเสาร์กับนกสมัยใหม่มากขึ้น โดยฟอสซิลแสดงให้เห็นว่า "เอ็มบริโอ" หรือตัวอ่อนของไดโนเสาร์ อยู่ในตำแหน่งโค้งงอที่เรียกว่า "การซ่อนตัว" ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่พบในนกก่อนที่พวกมันจะฟักออกมาไม่นาน

สิ่งนี้บ่งชี้ว่าพฤติกรรมในนกสมัยใหม่มีวิวัฒนาการและมาจากบรรพบุรุษไดโนเสาร์ของพวกมัน

นักวิทยาศาสตร์บอกกับสำนักข่าว AFP อีกว่า  โอวิแรปโตโรซอร์ (Oviraptorosaur) เป็นไดโนเสาร์ที่มีขนซึ่งอาศัยอยู่ในเอเชียและอเมริกาเหนือในช่วงปลายยุคครีเทเชียส ระหว่าง 100 ล้านถึง 66 ล้านปีก่อน

นอกจากนี้ นักบรรพชีวินวิทยา หนึ่งของทีมวิจัย ยังได้ทวีตข้อความ ระบุว่า มันเป็นฟอสซิลไดโนเสาร์ที่น่าทึ่งที่สุดชิ้นหนึ่งเท่าที่เขาเคยเห็น และตัวอ่อนนั้นใกล้จะฟักแล้ว

 
สำหรับ "Baby Yingliang" มีขนาดยาว 10.6 นิ้ว จากหัวถึงหาง และอยู่ภายในไข่ยาว 6.7 นิ้ว ถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอิงเหลียงในประเทศจีน

ที่มา : BBC

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง