ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สธ.เปิดปัจจัยทำให้ "โควิด" อาจพ้นการระบาดใหญ่ในปีนี้

สังคม
1 ก.พ. 65
07:07
2,738
Logo Thai PBS
สธ.เปิดปัจจัยทำให้ "โควิด" อาจพ้นการระบาดใหญ่ในปีนี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สธ.เผยสถานการณ์โควิด-19 คงตัว คาดพ้นการระบาดใหญ่ภายในปีนี้ ด้วย 3 ปัจจัย "เชื้อกลายพันธุ์ไม่รุนแรงเพิ่มขึ้น - อัตราป่วยคงที่ - คาดการณ์การระบาดได้" ส่วนจะเป็นโรคประจำถิ่น โรคติดต่อทั่วไป หรือโรคตามฤดูกาล ขึ้นกับนิยามที่แตกต่างกัน

วันนี้ (1 ก.พ.2565) ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 7,422 คน จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากในประเทศ 7,161 คน ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 261 คน ผู้ป่วยสะสม 224,529 คน (ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) หายป่วยกลับบ้าน 8,715 คน หายป่วยสะสม 174,271 คน (ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) ผู้ป่วยกำลังรักษา 83,014 คน และเสียชีวิต 12 คน

 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หลังปีใหม่ไทยควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอนที่หลายประเทศมีอัตราการติดเชื้อแบบก้าวกระโดด แต่ไทยได้รับความร่วมมือจากประชาชนทำให้การระบาดไม่มากนัก แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้การติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นการติดต่อในกลุ่มเล็กๆ มีกิจกรรมที่เสี่ยงสูง เช่น รับประทานอาหารร่วมกัน จึงต้องย้ำเรื่องการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง

สำหรับนิยามเกี่ยวกับโรคติดต่อขึ้นกับวัตถุประสงค์ ปัจจุบันมี 2 แบบ คือ

  • นิยามตามกฎหมาย จาก พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 4 ได้แก่ โรคติดต่อ โรคติดต่ออันตราย โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง และโรคระบาด เป็นนิยามสำหรับใช้ในการควบคุมโรค เพื่อมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ในการดำเนินการเฝ้าระวังและควบคุมโรค ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละระดับ
  • นิยามทางสาธารณสุข ทางการแพทย์ และระบาดวิทยา เพื่อสื่อสารทำความเข้าใจได้ตรงกัน ได้แก่ "Pandemic" การระบาดใหญ่ทั่วโลก , "Epidemic" โรคระบาด ที่ระบาดรวดเร็วแต่ขอบเขตเล็กกว่า และ "Endemic" โรคประจำถิ่น ซึ่งอัตราติดเชื้อต้องค่อนข้างคงที่ สายพันธุ์ค่อนข้างคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลงจนรุนแรงมาก และคาดการณ์การระบาดได้

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า การระบาดใหญ่ทั่วโลกมี 3 ระยะ คือ Pre-Pandemic ก่อนระบาดทั่วโลก, Pandemic การระบาดทั่วโลก อาจกินเวลาสั้น ๆ 1-2 ปี หรือหลายปี และ Post-Pandemic ซึ่งเชื่อว่าโรคโควิด-19 จะผ่านการระบาดใหญ่เข้าสู่ระยะ Post-Pandemic ภายในปีนี้ ด้วย 2 เหตุผล คือ คนทั่วโลกฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 10,000 ล้านโดส ประเทศไทยฉีดเกิน 115 ล้านโดส

ขณะที่ไวรัสกลายพันธุ์ล่าสุด คือ "โอมิครอน" แม้ระบาดเร็วแต่ความรุนแรงน้อยลง จึงน่าจะควบคุมและคาดการณ์การระบาดได้ โดยอาจกลายเป็นโรคประจำถิ่น โรคติดต่อทั่วไป หรือโรคตามฤดูกาล ตามแต่นิยามที่แตกต่างกันไป เช่น ไข้เลือดออก เป็นโรคประจำถิ่น และเป็นโรคตามฤดูกาล เพราะระบาดในพื้นที่ภูมิภาคนี้และมีรูปแบบการระบาดในช่วงฤดูฝน ซึ่งจะรู้ว่าเป็นการระบาดตามฤดูกาลหรือไม่ ต้องใช้เวลาหลายปีในการดูรูปแบบการระบาด

มีประวัติติดเชื้อ ให้เว้น 1 เดือนแล้วฉีดวัคซีน

นพ.โอภาส กล่าวว่า การประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา มีคำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพิ่มเติม ดังนี้

  • การฉีดวัคซีนสูตรไขว้ เดิมให้เรียงจากเชื้อตาย ไวรัลเวกเตอร์ และ mRNA แต่องค์การอนามัยโลกแนะนำฉีด mRNA และต่อด้วยไวรัลเวกเตอร์ได้ ดังนั้น ผู้ที่ฉีดไฟเซอร์เข็มแรกแล้วมีปัญหา สามารถเปลี่ยนไปฉีดแอสตราเซนเนกาได้
  • ผู้ที่มีประวัติติดเชื้อโควิด-19 เดิมให้เว้นช่วง 3 เดือนแล้วฉีดวัคซีน แนะนำให้ลดเหลือ 1 เดือน
  • ผู้ที่ฉีดแอสตราเซนเนกาแล้ว 2 เข็ม เดิมให้ฉีด mRNA แต่หลายคนไม่สบายใจหรือมีประวัติแพ้มาก่อน ให้ฉีดแอสตราฯ เข็ม 3 ได้
  • เด็กอายุ 12-17 ปีที่รับซิโนฟาร์ม 2 เข็มมาแล้ว 4 สัปดาห์ สามารถรับเข็ม 3 เป็นไฟเซอร์ได้
  • ฉีดซิโนแวคในอายุ 3-17 ปีได้ หลังจาก อย.ขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมแล้ว

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง